ผู้แทนครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ค้านไม่เป็นธรรม คุรุสภาขอหาวิธีอื่น
ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือข้อเสนอแนะการผลิตและพัฒนาครูที่เกี่ยวข้องกับคุรุสภา เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาหลายประเด็น โดยเฉพาะการรับรองหลักสูตรตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ซึ่งเป็นที่สงสัยมากว่าหลักสูตรที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รับรองแล้วเหตุใดต้องส่งมาให้คุรุสภารับรองอีก ถือเป็นการทำงานซ้ำซ้อน ซึ่งคุรุสภาชี้แจงว่าจำเป็นต้องทำเหมือนกับ วิชาชีพอื่น เช่น แพทย์ พยาบาล ที่สภามหาวิทยาลัยรับรองหลักสูตรแล้วยังต้องให้สภาวิชาชีพรับรองอีกครั้ง เพราะคุรุสภาถือเป็นสภาวิชาชีพเช่นกัน ส่วนกรณีที่ประกาศคุรุสภาเรื่องการรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษาเพื่อการประกอบวิชาชีพ พ.ศ. 2557 กำหนดให้ผู้เรียนครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ปีการศึกษา 2557 ต้องสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูในอีก 5 ปีข้างหน้านั้น คุรุสภาชี้แจงว่าเพื่อยกระดับวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงและมีคุณค่า ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ยังมีเวลาอีก 5 ปีที่จะทำให้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่ามีครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จำนวน 2,004 ราย และครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และครูบนดอย ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จำนวน 1,200 ราย
ปลัด ศธ. กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้อภิปรายอย่างกว้างขวางประเด็นเส้นทางการเข้าสู่อาชีพครูของผู้เรียนสาขาอื่นที่ไม่ใช่คณะครุศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ เพราะหากต้องการได้คนเก่งมาเป็นครู ต้องมีวิธีให้คนเหล่านี้ได้รับใบอนุญาตโดยอัตโนมัติ เพื่อเอื้อให้คนเก่งเข้าสู่วิชาชีพ ซึ่งผู้แทนคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ให้เหตุผลว่าอาจไม่เป็นธรรมกับผู้เรียนครู แต่คุรุสภารับที่จะไปหาวิธีการที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ ศธ.จะสรุปประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุรุสภาเข้าสู่การประชุมองค์กรวันที่ 17 มี.ค.นี้ ก่อนเสนอให้คุรุสภาพิจารณาแก้ไขต่อไป.
...