"จาตุรนต์" เร่งปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ เน้นฟัง-พูด ตามธรรมชาติของการเรียนรู้ ชี้ หลาย ร.ร. มีหนังสือสอนภาษาอังกฤษ ไม่หลากหลาย ยกแนวทางการสอนของสวีเดนเป็นแบบอย่าง...
เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 57 นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงการประชุมเสวนาผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ปกครอง นักเรียน ผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนภาษาอังกฤษ เพื่อพิจารณาร่างแนวปฏิบัติตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง นโยบายปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ที่ออกประกาศเมื่อ 14 ม.ค.57 ที่ผ่านมา ว่า การพิจารณาวันนี้ ต้องการเร่งปฏิรูปการเรียนรู้ภาษาอังกฤษทั้งระบบ ซึ่งคาดว่ามีเด็กไทยประมาณ 1 ล้านคน มีปัญหาด้านภาษาไทยด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นที่ต้องปรับปรุงการอ่านภาษาไทย ขณะเดียวกัน มีเด็กที่อ่านหนังสือไม่ออกอีกจำนวนมาก นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาทักษะด้านภาษาอังกฤษแล้ว ยิ่งพบปัญหาที่มากกว่า
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของไทย เน้นการอ่านและเขียน ทำให้นักเรียนไม่สามารถจะสื่อสารได้ แม้เรียนภาษาอังกฤษมา 16 ปี ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายในหลายประเด็น รวมทั้งการเปรียบเทียบระหว่างการสอนของครูที่อาจผิดพลาด กับการสอนด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกต้องกว่า
"ร.ร.อาจจะตัองแนวการสอนด้วยความพร้อมที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่จะทำอย่างไรให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกันและมีประสิทธิภาพ ส่วนการจัดห้องสนทนานั้นเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องสอนให้เด็กสื่อสารได้ เพราะการเรียนภาษาแบบเจือจาง ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ ขณะเดียวกัน หนังสือเรียนอังกฤษก็มีความสำคัญ เพราะบางเล่มเปิดออกมา มีแต่ไวยากรณ์ล้วนๆ ร.ร.จึงต้องดูว่า หนังสือเรียนอังกฤษมีพอ และครอบคลุมไหม ซึ่งประเทศสวีเดนเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการสอนภาษาอังกฤษเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เพราะเริ่มสอนเด็กเล็กๆ โดยสอนฟังกับพูดโดยยังไม่สอนอ่าน และเขียนเลย" นายจาตุรนต์ กล่าว.
...