ใครจะนึกนะครับว่าผู้ที่เป็นถึงพระเจ้าแผ่นดิน มีพระบุญญาบารมีมากมายล้นฟ้า จะทรงมีความทุกข์โทมนัสทรงท้อถอยยอมแพ้ถึงขนาดทรงประชวรหนักถึงกับไม่มีพระราชประสงค์จะทรงดำรงพระชนม์ชีพ พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ระบายความบีบคั้นพระราชหฤทัยอย่างเหลือประมาณ...
ครับ...ในช่วงราวปี พ.ศ.2436 อันตรงกับปี ร.ศ.112 ตรงกับรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ถือเป็นเหตุสำคัญของประวัติศาสตร์บ้านเมืองของไทย ที่คนไทยทุกคนควรจำใส่ใจไว้ให้ดี เพราะเป็นปีที่ประเทศไทยของเรา ถูกกองทัพเรือของฝรั่งเศสล้อมปิดปากอ่าวไทย และยังส่งเรือรบแล่นเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาได้เกิดยุทธนาวีกับกองทัพเรือไทย การสู้รบกันครั้งนั้นจบลงด้วยฝ่ายไทยต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามให้กับฝ่ายฝรั่งเศสเป็นเงินนับล้านๆ บาท ตามอัตราเงินของสมัยนั้น
จากนั้นต่อมาฝรั่งเศสยังได้เข้ายึดครองเมืองจันทบุรีไว้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2436 จนราวเดือนมกราคม 2447 จึงยอมถอยออกจากจันทบุรี และได้เปลี่ยนไปยึดเอาเมืองตราดและเกาะกงไว้แทน โดยอ้างว่าเพื่อเป็นหลักประกันว่าสยามจะปฏิบัติตามอนุสัญญาใหม่โดยเคร่งครัด วันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2447 ถือเป็นวันสำคัญที่ชาวตราด และชาวไทยทั้งปวงต้องเจ็บช้ำน้ำใจอย่างที่สุด เพราะเป็นวันที่ทางราชการไทยต้อง ทำหนังสือสัญญาส่งมอบดินแดนของประเทศไทยเอง ให้กับทางรัฐบาลฝรั่งเศส เปรียบเสมือนในปัจจุบันที่ผู้ป่วยต้องลงนามอย่างขมขื่นที่จะต้องยินยอมให้แพทย์ตัดแขนตัดขา หรือควักลูกนัยน์ตาของตัวเองออกทิ้งไปเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้ ในการนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงส่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ไปแทนพระองค์ คือพระยามหาอำมาตย์ เดินทางโดยเรือรบหลวงมกุฎราชกุมาร ไปยังเมืองตราด
ครั้นถึงวันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2447 ณ ที่ศาลาว่าการจังหวัดตราด ข้าราชการฝ่ายไทยที่ประจำอยู่ในพื้นที่ ประกอบด้วย พระยาพิพิธพิสัยสุนทรการ (สุข บริชญานนท์) ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตราด และพระจรูญภาระการ (โป๊ะ กูรมะโรหิต) ซึ่งในขณะนั้นเป็นหลวงรามฤทธิรงค์ตำแหน่งยกกระบัตรเมืองตราด ได้ร่วมเป็นสักขีฝ่ายไทย โดยพระยามหาอำมาตย์ได้ลงนามในหนังสือสำคัญยกดินแดนไทยให้กับฝรั่งเศส และมอบให้แก่มอบเรสิดังต์กำปอดผู้เป็นข้าหลวงฝ่ายฝรั่งเศส
หลังจากทำพิธีลงนามมอบดินแดนไทยให้ฝรั่งเศสเสร็จแล้ว ได้มีพิธีเชิญธงชาติไทยลงจากยอดเสา และเชิญธงชาติฝรั่งเศสขึ้นสู่ยอดเสาแทน โดยเสาธงที่ตั้งประจำอยู่ด้านหน้าของศาลาว่าการจังหวัดตราดในตอนเช้าวันนั้น ยังชักธงชาติไทยไว้บนยอดเสาตามปกติ ซึ่งในขณะนั้นคือธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ส่วนธงชาติของฝรั่งเศสคือธงสามสีอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ทางการทหารฝรั่งเศสได้นำธงของเขามาผูกไว้เบื้องล่างในสายเชือกคู่เดียวกัน นอกจากนั้นแล้วทางฝ่ายทหารฝรั่งเศสก็ให้ทหารญวน ซึ่งขณะนั้นตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสไปอย่างสมบูรณ์เรียบร้อย ไปตั้งแถวเป็นกองเกียรติยศยืนอยู่ที่หน้าเสาธงในเวลานั้นด้วย
ณ เวลาที่ทำการชักธงชาติของฝ่ายไทยลงจากยอดเสาและในขณะเดียวกัน ก็ชักธงชาติสามสีของฝรั่งเศสสวนสลับฉับพลันขึ้นไปแทนธงช้างของชาติไทยเราทันที พร้อมๆ กับที่กองทหารฝรั่งเศสทำความเคารพและเป่าเพลงแตรเพลงไซเยส์ทำความเคารพธงชาติของตน ในเวลานั้นคนไทยและคนเมืองตราดทั้งหลายในที่นั้น ต่างพากันร้องไห้น้ำตาไหลพรากๆ ด้วยความเจ็บช้ำน้ำใจในการถูกช่วงชิงและบังคับให้ยินยอมเสียดินแดน และการดูถูกดูแคลนของฝรั่งเศสที่เอาทหารญวนที่เคยเป็นเมืองขึ้นของไทยมาตั้งแถวเหมือนเยาะเย้ย กับทั้งการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ข่มขู่ข่มขวัญโดยไม่ยอมให้เสาธงได้ว่างธงเลยแม้เเต่เสี้ยววินาที
เมื่อสิ้นสุดขบวนการขั้นตอนของการมอบดินแดนแล้ว แล้วพระยามหาอำมาตย์ก็พร้อมด้วยข้าราชการประจำเมืองตราดและเกาะกงบางคน คือพระยาพิพิธพิสัยสุนทรการ พระจรูญภาระการ และนายวาศผู้พิพากษาศาลจังหวัดประจันตคีรีเขตต์ที่ได้ย้ายครอบครัวจากเกาะกง ก็พากันออกจากจังหวัดตราดโดยเรือรบหลวงมกุฎราชกุมารกลับเข้าสู่กรุงเทพฯทันที เป็นอันจบสิ้นสถานภาพความเป็นพื้นที่ของชาติไทยแต่บัดนั้น
แต่ด้วยพระราชอุตสาหะพยายามอย่างที่สุด ประกอบกับพระปรีชาสามารถอันปราดเปรื่องของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการเจรจาและการดำเนินวิเทโศบายทางการทูตทุกวิถีทาง ทำให้ฝรั่งเศสยอมลงนามในหนังสือสัญญาคืนเมืองตราดให้กับไทยใน วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2449 แต่กระนั้นก็ยังเตะถ่วงการคืนดินแดนอย่างเป็นทางการออกไปเรื่อยๆ
จนวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2450 ฝรั่งเศสจึงได้ยินยอมทำพิธีมอบเมืองตราดอย่างเป็นทางการ นับว่าจังหวัดตราดต้องสูญเสียอิสรภาพตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสเป็นเวลาถึง 2 ปี 6 เดือน 7 วัน
แต่การได้เมืองตราดกลับคืนมานั้น ก็มิใช่ว่าจะได้กลับคืนมาเปล่าๆ เพราะเล่ห์กลอุบาย อุบาทว์แห่งชาติฝรั่งเศสในครั้งนั้น ได้วางกุศโลบายให้ไทยต้องยิมยอมแลกเปลี่ยนพื้นที่ของตราดกับอีก 3 เมือง คือฝ่ายไทยต้องยอมเสียดินแดนคือ พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้แก่ฝรั่งเศสเป็นการแลกเปลี่ยน
ในระหว่างการฝ่าฟันเหตุการณ์วิกฤติอันใหญ่หลวงต่างๆ เหล่านั้น ทำให้ในบางครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงบังเกิดความท้อถอยพระราชหฤทัย ทรงเกรงว่าประชาราษฎรจะเปรียบพระองค์กับกษัตริย์อยุธยา ที่ไม่สามารถรักษาบ้านเมืองเอาไว้ได้ และได้ทรงพระราชนิพนธ์ระบายความบีบคั้นพระราชหฤทัยอย่างเหลือประมาณ จนถึงกับทรงมีพระราชประสงค์จะไม่ดำรงพระชนม์ชีพ
ในฐานะที่เดือนนี้เป็นเดือนตุลาคม อันเป็นเดือนแห่งวาระวันสวรรคตแห่งพระองค์ท่าน ผมจึงขออัญเชิญบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 5 มาให้ทุกท่านได้อ่านกันครับ จะได้รับรู้ว่าพระมหากษัตริย์ไทยทุกรัชกาลทุกพระองค์นั้น ทรงห่วงใยประเทศชาติบ้านเมืองมากเพียงใด...
เจ็บนานหนักอกผู้ บริรักษ์ ปวงเฮย
คิดใคร่ลาหาญหัก ปลดเปลื้อง
ความเหนื่อยแห่งสูจัก พลันสร่าง
ดูจักสู่ภพเบื้อง หน้านั้นพลันเขษม
เป็นฝีสามยอดแล้ว ยังร่าย ส่านอ
ปวดเจ็บใครจักหมาย เชื่อได้
ใช่เป็นแต่ส่วนกาย เศียรกลัด กลุ้มแฮ
ใครต่อเป็นจึงผู้ นั่นนั้นเห็นจริง
ตะปูดอกใหญ่ตรึ้ง บาทา อยู่เฮย
จึงบอาจลีลา คล่องได้
เชิญผู้ที่เมตตา แก่สัตว์ ปวงแฮ
ชักตะปูนี้ให้ ส่งข้าอันขยม
ชีวิตมนุษย์นี้ เปลี่ยนแปลง จริงนอ
ทุกข์และสุขพลิกแพลง มากครั้ง
โบราณท่านจึงแสดง เป็นเยี่ยง อย่างนา
ชั่วนับเจ็ดทีทั้ง เจ็ดข้างฝ่ายดี
เป็นเด็กมีสุขคล้าย ดิรฉาน
รู้สุขรู้ทุกข์หาญ ขลาดด้วย
ละอย่างละอย่างพาล หย่อนเพราะ เผลอแฮ
คล้ายกับผู้จวนม้วย ชีพสิ้นสติสูญ
ฉันไปปะเด็กห้า หกคน
โกนเกศนุ่งขาวยล เคลิบเคลิ้ม
ถามเขาว่าเป็นคน เชิญเครื่อง
ไปที่หอศพเริ้ม ริกเร้าเหงาใจ
กล้วยเผาเหลืองแก่ก้ำ เกินพระ ลักษณ์นา
แรกก็ออกอร่อยจะ ใคร่กล้ำ
นานวันยิ่งเครอะคระ กลืนยาก
ทนจ่อซ่อมจิ้มจ้ำ แดกสิ้นสุดใบ
เจ็บนานนึกหน่ายนิตย์ มะนะเรื่องบำรุงกาย
ส่วนจิตต์มิสบาย ศิระกลุ้มอุราตรึง
แม้หายก็พลันยาก จะลำบากฤทัยพึง
ตริแต่จะถูกรึง อุระรัดและอัตรา
กลัวเป็นทวิราช บตริป้องอยุธยา
เสียเมืองจึงนินทา บละเว้นฤว่างวาย
คิดใดจะเกี่ยงแก้ ก็บพบซึ่งเงื่อนสาย
สบหน้ามนุษย์อาย จึงจะอุดและเลยสูญ ฯ
...
เผ่าทอง ทองเจือ