ครม.ไฟเขียวโอนอำนาจให้ อปท. ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน รวมทั้งมีอำนาจห้ามบุคคลเข้าไปในโบราณสถาน  จัดหาประโยชน์ และเรียกเก็บค่าเข้าชม ...

วันที่ 10 ก.ย. นายสนธยา คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม มีมติเห็นชอบตามที่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอขอความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถาน พ.ศ. ….. และขอให้แก้ไขเพิ่มเติมตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอ ครม. คณะที่ 2 (ฝ่ายสังคมและกฎหมาย) ดังนี้ 1. ร่างมาตรา 4 นิยามคำว่า “โบราณสถาน” ให้แก้ไขเป็น “หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์ที่โดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้าง หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์ หรือเกี่ยวกับวัตถุที่พบอยู่ในอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ทางศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม หรือโบราณคดี และให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ และอุทยานประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ เฉพาะที่มีอายุตั้งแต่เจ็ดสิบห้าปีขึ้นไป” 2. ร่างมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ให้แก้ไขจาก “ภายในหกสิบวัน” เป็น “ภายในเก้าสิบวัน” แล้วให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

รมว.วัฒนธรรม กล่าวต่อว่า สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นั้น ได้กำหนดให้อธิบดีกรมศิลปากรมีอำนาจประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานใด ๆ ตามที่เห็นสมควร แต่ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ คุ้มครอง รักษา และทำนุบำรุงโบราณสถาน พร้อมทั้งมีอำนาจกำหนดเขตโบราณสถาน บริเวณโดยรอบ และเขตโบราณสถานต่อเนื่องด้วย ขณะเดียวกัน กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีอำนาจประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน พร้อมทั้งกำหนดเขตโบราณสถานและเขตโบราณสถานต่อเนื่อง รวมทั้งมีอำนาจห้ามบุคคลเข้าไปในโบราณสถานทั้งหมดหรือบางส่วน จัดหาประโยชน์ และเรียกเก็บค่าเข้าชมจากประชาชน

นอกจากนี้ ได้กำหนดให้มีการออกใบอนุญาต 2 กรณี คือ ใบอนุญาตทำการค้าโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ และห้ามส่งหรือนำโบราณวัตถุไม่ว่าจะได้ประกาศขึ้นทะเบียนแล้วหรือไม่ หรือศิลปวัตถุที่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนแล้ว ออกนอกราชอาณาจักร โดยการกำหนดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ หากผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืน อธิบดีมีอำนาจสั่งพักใช้ จนถึงเพิกถอนใบอนุญาตนั้น

“กำหนดเกี่ยวกับการส่งหรือนำโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ หรือชิ้นส่วนของโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่อยู่ในความครอบครองของกรมศิลปากร ออกนอกราชอาณาจักร และการนำโบราณวัตถุที่มีแหล่งกำเนิดในต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบ การกำหนดให้มีคณะกรรมการโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถาน รวมทั้งกำหนดให้จัดตั้งกองทุนโบราณคดี เพื่อใช้จ่ายในกิจการอันเป็นประโยชน์เกี่ยวกับโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ พิพิธภัณฑสถาน และโบราณคดี และให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนโบราณคดี รับผิดชอบในการบริหารจัดการ และกำหนดให้กองทุนโบราณคดีประกอบด้วย เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนมา และทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งเข้ากองทุนโบราณคดีโดยไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้แผ่นดิน” นายสนธยา กล่าว.

...