'พงศ์เทพ' ยอมรับการศึกษาไทยห่วยจริง นักวิชาการจี้ตื่นตัวตามหลังเขมร “ชินภัทร” โบ้ยเป็นเรื่องเม็ดเงินลงทุน...
จากกรณีผลการจัดอันดับโดย World Economic Forum (WEF)-The Global Information Technology Report 2013 ระบุระดับคุณภาพการศึกษาไทยอยู่ในลำดับที่ 8 ในภูมิภาคอาเซียน เป็นรองประเทศเวียดนามและกัมพูชานั้น นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งรับผิดชอบงานการศึกษา กล่าวว่า การศึกษาไทยถูกประเมินในระดับนานาชาติหลายครั้งผลที่ได้ก็แสดงให้เห็นว่าเรายังทำได้ไม่ดีจริงๆ แม้ผลอาจไม่ตรง ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ประเทศไทยอยู่ลำดับนั้นจริงหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่าการศึกษาไทยมีปัญหาอยู่มาก ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกันอย่างเต็มที่ สิ่งสำคัญคือหลักสูตรและคุณภาพผู้สอนต้องดี หากเราเน้นการ ให้ความสำคัญของหลักสูตรและครู ตนเชื่อว่าการศึกษาไทยจะสามารถไล่ตาม และแซงหน้าประเทศต่างๆได้แน่นอน
ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ส่วนตัวเข้าใจว่ารายงานของ WEF จะประเมินโดยวิเคราะห์ระบบการศึกษาในฐานะของการผลิตกำลังคน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยพิจารณาทั้งในส่วนของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทักษะของนักเรียน และการประเมินอัตรากำลังคนด้านอาชีวะ ซึ่งเป็นกำลังคนที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น จุดบกพร่องทั้ง 3 เรื่องนี้ของไทย โดยเฉพาะในเรื่องอัตรากำลังคนสายอาชีวะ ที่ยังมีจำนวนน้อยและคุณลักษณะของผู้เรียนยังไม่ถึงระดับอินเตอร์เนชั่นแนลจึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่ง เพราะการประเมินของ WEF มองการศึกษาว่าเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ จึงมีการเปรียบเทียบเม็ดเงินที่ใช้ลงทุนและผลที่ได้รับกลับมา เมื่อประเทศไทยมีสัดส่วนการลงทุนด้านการศึกษาต่อจีดีพีที่สูงแต่ได้ผลตอบแทนที่ต่ำ เลยทำให้อันดับอยู่ต่ำกว่าประเทศที่ลงทุนต่อจีดีพีต่ำแต่ได้คุณภาพที่สูง ทั้งนี้จะมอบให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องนำผลการจัดอันดับมาศึกษาวิจัย เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป
ด้าน รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ข้อมูลของ WEF มีความน่าเชื่อถือระดับหนึ่งอยู่แล้ว น่าจะทำให้ประเทศไทยเกิดการตื่นตัวว่าทำไมการจัดการศึกษาของเราถึงแพ้กัมพูชา ซึ่งเท่าที่ตนได้ศึกษาประเทศในกลุ่มอาเซียนพบใน 4-5 ปีที่ผ่านมาพบว่าส่วนใหญ่จะเข้ามาศึกษาข้อมูลต่างๆในประเทศไทย และนำความรู้ต่างๆ กลับไปพัฒนาประเทศ ขณะที่ปัญหาการศึกษาของไทยเดินหน้าไปแทบทุกวัน แต่กระบวนการแก้ปัญหายังคงเดินถอยหลัง ติดหล่ม อย่างปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้เป็นปัญหาเก่าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แสดงว่ากลไกในการแก้ปัญหาตายซาก ไม่มีความต่อเนื่อง.
...