มติ มส.ตั้ง สมเด็จวัดปากน้ำ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ แทน สมเด็จพระพุฒาจารย์ ที่มรณภาพลง โฆษก มส. เผย พิจารณาตามลำดับชั้นการปกครองของคณะสงฆ์ พร้อมตั้งพระพรหมเวที วัดไตรมิตรฯ นั่งเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก และแต่งตั้งพระพรหมสุธี ประธานดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ...

เมื่อวันที่ 20 ส.ค.เวลา 14.00 น. ที่อาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) จ.นครปฐม มีการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ซึ่งมีวาระการพิจารณาคัดเลือกประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อดำรงตำแหน่งแทนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งมรณภาพเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยใช้เวลาการประชุม ประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที

จากนั้นเวลา 15.30 น. นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แถลงผลการประชุม ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปฺญโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ เนื่องจากมีความอาวุโสทางสมณศักดิ์สูงที่สุดทุกด้าน และมีความพร้อมทางด้านร่างกายพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ โดยภายในสัปดาห์นี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะรายงานเรื่องดังกล่าวให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รับทราบเพื่อให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือกราบบังคมทูลฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ต่อไป

ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบแต่งตั้งพระพรหมเวที เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก แทนสมเด็จพระพุฒาจารย์ รวมทั้งยังมีมติแต่งตั้งพระพรหมสุธี รักษาการเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ เป็นประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ส่วนตำแหน่งแม่กลองงานพระธรรมทูต ที่ประชุมมีมติเสนอให้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์เป็นประธาน ส่วนตำแหน่งพระราชาคณะชั้นสมเด็จฯ ที่ว่างลงนั้น ยังคงต้องรอให้มีพิธีพระราชเพลิงศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ ก่อน จึงจะมีการเสนอรายชื่อพระราชาคณะแต่งตั้งเป็นสมเด็จองค์ใหม่

"อย่างไรก็ตาม การคัดเลือกและเสนอแต่งตั้งตำแหน่งพระราชาคณะชั้นสมเด็จนั้น เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการฝ่ายมหานิกายหากมีพิธีพระราชทานเพลิงศพฯ สมเด็จพระพุฒจารย์ หลังวันที่ 5 ธันวาคมนี้ การเสนอชื่อแต่งตั้งสมเด็จพระราชาคณะ คงต้องดำเนินการในปีหน้า แต่หากพระราชทานเพลิงก่อนเดือนธันวาคม ต้องพิจารณาอีกว่าจะสามารถเสนอชื่อพระราชาคณะแต่งตั้งเป็นสมเด็จองค์ใหม่ทัน หรือไม่" นายนพรัตน์ กล่าว

ด้าน พระพรหมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม ในฐานะโฆษกกรรมการมหาเถรสมาคม กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 20 วันอังคารทีี่ 20 ส.ค.2556 ซึ่งได้มีการแต่งตั้งสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช แทนสมเด็จพระพุฒาจารย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ อัศจรรย์ว่า การพิจารณาแต่งตั้งในครั้งนี้มีระยะเวลาห่างจาก การแต่งตั้ง สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นประธานคณะผู้ปฎิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นเวลา 9 ปี 1 เดือนเต็มพอดี ซึ่งในครั้งนั้น ก็เป็นการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 20 ในวันอังคารที่ 20 ก.ค. 2547

โฆษกกรรมการมหาเถรสมคม กล่าวอีกว่า ที่ประชุมมหาเถรสมาคม ได้มีมติเอกฉันท์ โดยคณะสงฆ์ได้พิจารณาตามลำดับชั้นการปกครองของคณะสงฆ์ ซึ่ง การเมืองของพระ เป็นไปตามสันติวิธี พิจารณาว่า ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน ไม่ใช่ค่าของคน อยู่ที่คนของใคร อยากจะให้การเมืองมีการเลียนแบบพระบ้าง ถ้าทำได้ โลกนี้จะสุขสงบ อย่างไรก็ตาม คณะสงฆ์เห็นว่า สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นผู้มีศีลาจารวัตรที่ดีงาม ได้รับการสถาปนาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหาเถระที่ทำงานคร่ำหวอดกับกิจการคณะสงฆ์อย่างมากรูปหนึ่ง ท่านมีบารมีธรรมสามารถที่จะยังประชาชน ให้เข้ามาสู่คณะสงฆ์ ในภาวะที่คณะสงฆ์กำลังบอบช้ำ เกี่ยวกับเรื่องไม่ดีหลายเรื่อง นอกจากนี้ ท่านยัง เป็นพระทางสายปฏิบัติ วิปัสนากรรมฐาน และเป็นลูกศิษย์ หลวงพ่อสด ด้วย

...

ทั้งนี้ สำหรับประวัติ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ปัจจุบันอายุ 88 ปี 68 พรรษา นามเดิมว่า ช่วง สุดประเสริฐ เกิดวันที่ 26 ส.ค.2468 ที่ ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เป็นบุตรนายมิ่งและนางสำเภา สุดประเสริฐ เมื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ อายุ 7 ปี นายมิ่ง ผู้เป็นบิดาถึงแก่กรรมจึงให้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์และพี่ชายบรรพชาเป็น สามเณร เมื่อพี่ชายลาสิกขา แต่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ยังบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ระยะหนึ่งจึงลาสิกขา เมื่ออายุ 14 ปีได้บรรพชาอีกครั้ง ที่วัดสังฆราชา กรุงเทพมหานคร จากนั้นศึกษาและสอบนักธรรมชั้นตรีและชั้นโท ระหว่างนั้นทราบกิตติคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ จึงอยากมาศึกษากับหลวงพ่อวัดปากน้ำ ในปี 2484 จึงย้ายมาอยู่วัดปากน้ำจากนั้นปี 2488

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ อุปสมบท นามฉายา “วรปุญฺโญ” ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ สอบได้โดยลำดับถึง ป.ธ.7 หลวงพ่อวัดปากน้ำ นำไปฝากสมเด็จพระสังฆราช (กิตฺติโสภณมหาเถร) ให้ศึกษา ป.ธ. 8, 9 ในสำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม หลังจากสำเร็จการศึกษา ป.ธ. 9 แล้ว หลวงพ่อวัดปากน้ำได้ไปรับกลับมาช่วยงานที่วัดปากน้ำจนถึงปัจจุบันสำหรับการเลื่อนสมณศักดิ์ ในปี 2499 ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีวิสุทธิโมลี ปี 2505 เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเวที และปี 2510 เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพวรเวที ปี 2516 เลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมธีรราชมหามุนี ปี 2530 เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏที่ พระธรรมปัญญาบดี และปี2538 สมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์

ส่วนงานด้านการปกครองเคยดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการสมเด็จสังฆนายก วัดเบญจมบพิตร เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ รองเจ้าคณะภาค 3 เจ้าคณะภาค 3 รวม 2 สมัย และเป็นเจ้าคณะภาค 17 รวม 3 สมัย เป็นเจ้าคณะภาค 7 ส่วนการทำงานในต่างประเทศปี 2527 ได้สร้างวัดไทยในสหรัฐอเมริกา ชื่อว่า วัดมงคลเทพมุนี เมืองฟิลาเดลเฟีย และสร้างวัดไทยแห่งแรกในประเทศญี่ปุ่นชื่อ วัดปากน้ำญี่ปุ่น เมืองชิบะ รวมถึงสร้างวัดไทยในนิวซีแลนด์ชื่อว่า วัดปากน้ำนิวซีแลนด์ เมืองทัวรังง่า นอกจากนี้ยังอุปถัมภ์การสร้างวัดปากน้ำอเมริกา รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกาแห่งที่ 2 ด้วย และยังทำงานบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ โดยก่อตั้งมูลนิธิหลวงพ่อวัดปากน้ำ นำดอกผลของมูลนิธิใช้ในการบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ และได้ชักชวนสาธุชนร่วมสมทบทุนในโอกาสต่าง ๆ ปัจจุบันมีเงินทั้งหมด 230 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังได้รับสมณศักดิ์ต่างประเทศ อาทิ รับสมณศักดิ์จากบังกลาเทศที่ พระศาสนธชมหา ปัญญาสาระ และรับสมณศักดิ์จากศรีลังกา ฝ่ายอมรปุรนิกายที่ พระชินวรสาสนโสภณเตปิฎกวิสารท คณะปาโมกขาจริยะ รับสมณศักดิ์จากศรีลังกา สยามวงศ์ ฝ่ายอัสสคิริยะที่ พระสาสนโชติกสัทธัมมวิสารทวิมลกิตติสิริ รับสมณศักดิ์จากศรีลังกา สยามวงศ์ ฝ่ายมัลลวัตตะ ที่ พระธรรมกิตติสิรเตปิฎกวิสารโท และรับสรณศักดิ์จากศรีลังกา ฝ่ายรามัญวงศ์ ที่ พระติปิฎกปัณฑิตธัมมกิติสสิริยติสังฆปติ และได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ของประเทศศรีลังกา สยามวงศ์ ฝ่ายโกฏเฏ ที่ พระอุบาลีวังสาลังการะอุปัชฌายะธรรมธีรมหามุนี เถระ.