นายเขมชาติสศร.ถอดรหัส “ดอกบัวบานในธารวรรณกรรม” เปิดประตูเชื่อมไทย-เวียดนามเด็กไทยอ่านหนังสือน้อยลงเรื่องจริงในสังคมไทยยุคปัจจุบันที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะทุกวันนี้โลกแห่งเทคโนโลยี ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันของเด็กและเยาวชนไทยเกือบทั้งระบบคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ที่คนในยุคนี้ขาดไม่ได้ เพราะนอกจากใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร สนทนา ใช้หาความบันเทิงแล้ว ยังสามารถใช้ ค้นคว้าหาความรู้ ผ่านบริการสืบค้นทางเว็บไซต์ต่างๆ ที่เป็นเสมือนคลังข้อมูล ในโลกอินเตอร์เน็ต แบบที่ว่าง่ายยิ่งกว่าพลิกฝ่ามือ จากอดีตการค้นคว้า ต้องศึกษาจากการอ่านตำรา และในหนังสือเรียน ผลกระทบความแปรเปลี่ยนในโลกเทคโนโลยีนั้น มิได้มีส่วนทำให้เด็กไทยอ่านหนังสือน้อยลงเท่านั้น แต่ยังส่งผลทำให้เด็กไทยละเลยและไม่ให้ความสำคัญกับภาษา ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงถึงอัตลักษณ์ชาติตามไปด้วยในทางกลับกัน หลายชาติในโลก ที่ไม่มีภาษาเป็นของตนเอง แต่คนในชาตินั้นๆ ต่างมุ่งที่จะเรียนรู้และใช้ภาษาเป็นหน้าต่างในการแสวงหาความสำเร็จ อีกทั้งยังมีชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่สนใจเรียนรู้ภาษาไทยอย่างลึกซึ้งดอกบัวบานในธารวรรณกรรม เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น และบทกวี ที่ผสานความร่วมมือของนักเขียนไทย และเวียดนาม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จัดทำขึ้น เพื่อใช้งานเขียน เป็นทูตทางสังคมสื่อประสานคนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ให้สามารถล่วงรู้ถึงวิธีคิด ความรู้สึกนึกคิด และเข้าถึงจิตใจของกันและกันมากขึ้นทั้งยังมุ่งหวังใช้วรรณกรรมเป็นตัวเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำความเข้าใจภาพทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมไทยได้อย่างลึกซึ้ง โดย จัดพิมพ์ขึ้น 3 ภาษา ทั้งไทย เวียดนาม และอังกฤษทีมข่าววัฒนธรรมได้ติดตามคณะทำงานของ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) นำโดย นายเขมชาติ เทพไชย ผอ.สศร. พร้อมด้วย นายเจน สงสมพันธุ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และ สองศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ นายประภัสสร เสวิกุล และ นายสถาพร ศรีสัจจัง ร่วมงานเปิดตัวหนังสือดอกบัวบานในธารวรรณกรรม ที่สมาคมวรรณกรรมเวียดนาม กรุงฮานอยประเทศเวียดนาม พร้อมแลกเปลี่ยนแนวทางการส่งเสริมงานวรรณกรรมร่วมกับสมาคมนักเขียนเวียดนาม นำมาต่อยอดในการสร้างเยาวชนนักเขียนรุ่นใหม่ สิ่งแรกที่ได้พบเห็นได้อย่างชัดเจน คือ เด็กและเยาวชนในวัยเรียน ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษา ไปจนถึงรั้วอุดมศึกษาของเวียดนามให้ความสนใจมาร่วมงานเปิดตัวหนังสือเล่มนี้อย่างคับคั่ง ขณะที่พบว่า ปัจจุบันเด็กเวียดนามสนใจเรียนภาษาไทยเป็นภาษาที่สามจำนวนมากขึ้น รองจากภาษาเวียดนาม และภาษาอังกฤษ ส่วนใหญ่ให้เหตุผลตรงกันว่า ภาษาไทยมีเอกลักษณ์ มีการใช้ภาษาที่งดงาม และออกเสียงได้ไพเราะยิ่งไปกว่านั้น เด็กเวียดนามจำนวนไม่น้อยใช้การอ่านวรรณกรรม งานเขียน เรื่องสั้น นวนิยาย และบทละคร ในการเรียนรู้ภาษาไทย เพื่อให้เข้าใจการใช้ชีวิตของคนไทยได้เป็นอย่างดี“ประเทศเวียดนามให้ความสำคัญทางด้านภาษามาก ตั้งแต่สมัยโบราณที่มีการสอบแข่งขันจอหงวนซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีน คนเวียดนามจึงท่องมาก อ่านมาก ผ่านวรรณกรรม บทกวีต่างๆ เพื่อให้เกิดพัฒนาการทางด้านความคิด และสติปัญญาใช้ต่อสู้เพื่อสร้างความสำเร็จ สิ่งเหล่านี้สั่งสมเรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบัน เด็กและเยาวชนก็ยังให้ความสำคัญในการเรียนรู้ภาษา ให้รู้ชาติกำเนิด ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็สนับสนุนให้ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนด้านภาษาและวรรณกรรม ในปี 2556–2563 เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งต่างจากเยาวชนไทยที่มีการเรียนรู้วรรณกรรมของชาติลดลงเรื่อยๆ” นายเขมชาติ ฉายภาพของแนวทางการแลกเปลี่ยนความรู้งานวรรณกรรมร่วมกับประเทศเวียดนามผอ.สศร. กล่าวด้วยว่า ประเทศเวียดนาม จะมีการแจกวรรณกรรมเล่มนี้ไปยังสถานศึกษา และเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต เพื่อให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาได้สะดวก สำหรับประเทศไทย สศร. ได้แจกหนังสือไปยังสถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศแล้วเช่นกัน และยังมองถึงในอนาคตว่าจะประสานไปยังกระทรวงศึกษาธิการ หาแนวทางสอดแทรกวรรณกรรมร่วมสมัยเข้าสู่สถานศึกษา รวมทั้งหาทางเปิดโลกวรรณกรรมในระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเข้าถึงการอ่านของเด็กและเยาวชนด้วย ขณะเดียวกันจะต่อยอดโครงการนี้ ด้วยการนำศิลปินของไทยมาสัมผัสวิถีชีวิตและเขียนเรื่องราวที่สนใจในเวียดนาม จากนั้นก็ให้ศิลปินเวียดนาม มาศึกษาวิถีชีวิตคนไทยและเขียนเรื่องราวที่สนใจในประเทศไทย ถ่ายทอดออกมาเป็นงานวรรณกรรมร่วมสมัยต่อไป ขณะที่ นายสถาพร ให้ความเห็นว่า งานวรรณกรรมทุกสาขา นับเป็นโปรแกรมเมอร์ทางประวัติศาสตร์ เป็นรากวัฒนธรรม ที่ช่วยสร้างความสำนึกรักชาติให้กับคนแต่ละประเทศ แต่ สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับเด็กไทยปัจจุบัน คือ ถูกโปรแกรมเมอร์ลึกลับระดับโลก ที่น่ากลัว สร้างให้เด็กไปสู่วัฒนธรรมบริโภคนิยม ทำให้ไม่รู้จักความเป็นชาติ แต่หากผู้บริหารประเทศ มีความชาญฉลาด ก็ควรจะรู้ว่าการส่งเสริมให้เกิดการตกผลึกในงานศิลปวัฒนธรรมทุกสาขาเป็นความจำเป็น โดยการสร้างเครื่องมือให้เยาวชนไทยเกิดความรักชาติ ก็จะทำให้เอกลักษณ์ของชาติไม่สูญหายทีมข่าววัฒนธรรม เห็นด้วยกับแนวทางการส่งเสริมวรรณกรรมเข้าสู่สถานศึกษา แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม คงต้องรับหน้าเสื่อร่วมมือกันเป็นเจ้าภาพหลักดำเนินงาน สานฝันให้เป็นจริง ซึ่งอาจจะบรรจุเนื้อหาวรรณกรรมลงในแท็บเล็ต อุปกรณ์การเรียนการสอนให้เข้ายุคสมัยใหม่เพราะเรามองว่า “วรรณกรรม และบทกวี” เป็นภาพสะท้อนความจริงของสังคมในแต่ละยุคสมัย หากเด็กและเยาวชนได้รู้ ถึงความเป็นตัวตนและชาติกำเนิดของตนเองแล้ว ผลที่ตามมา คือ เกิดสำนึกรักและหวงแหนในความเป็นชาติ“...คนเก่งต้องกร้านต้องหาญกล้า มิรอนอ่อนล้าแรงละโหยต้องท้าพายุที่บดโบย แม้เปลี่ยวเดียวโดยระหว่างดล...” บทกวีที่อยู่ในหนังสือดอกบัวบานในธารวรรกรรม โดย วรภ วรภา.ทีมข่าววัฒนธรรม