กรมอุทยานแห่งชาติต้านตัดถนน "คลองลาน-อุ้มผาง" ทำหนังสือถึง ทส. ส่ง ครม.ให้ยกเลิกมติ 10 มิ.ย. ชี้ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมป่า-สัตว์...

จากกรณีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่ จ.กำแพงเพชร เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบในหลักการโครงการก่อสร้างถนนริมชายแดน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร-อ.อุ้มผาง จ.ตาก ระยะทาง 40 กม. โดยมอบให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับไปพิจารณา ปัญหาในเรื่องมวลชนและเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการก่อสร้างถนน ริมชายแดน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร-อ.อุ้มผาง จ.ตาก หรือการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 1117 (สายคลองลาน-อุ้มผาง) เคยถูกระงับไปแล้วเมื่อปี 2548 สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีกลุ่มภาคประชาชน นำโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียรออกมาคัดค้านนั้น

เมื่อวันที่ 25 ก.ค.นายมโนพัศ หัวเมืองแก้ว อธิบดีกรมอุทยานฯ เปิดเผยว่า ตนจะไม่ยินยอมให้มีการก่อสร้างถนนดังกล่าวในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของกรมอุทยานฯ เด็ดขาด เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นผืนป่าตะวันตกที่มีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ป่าอย่างมาก หากมีการตัดถนนเข้าไปก็จะกระทบกับสภาพแวดล้อม ทำให้พื้นที่ป่าหมด และสัตว์ป่าหายแน่นอน ที่สำคัญบริเวณดังกล่าวถือเป็นต้นน้ำของแม่น้ำแม่กลอง และที่ผ่านมาคน จ.ตากเองก็ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้เพราะถ้ามีการตัดถนนจาก อ.อุ้มผางมายัง จ.กำแพงเพชร ก็จะทำให้ อ.เมือง ตาก และ อ.แม่สอดที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจหลักของ จ.ตาก ลดความสำคัญลงไป

“ถนนนี้มีไม่ได้เด็ดขาด เพราะสภาพป่าเสียหายที่ผ่านมา มีการตัดถนนเส้นนี้ และทำเป็นถนนลาดยางแล้วส่วนหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ต้องล้มเลิกไป ต้องมาคิดกันว่าการตัดถนนดังกล่าวมีผลดีผลเสียอย่างไร และมีความจำเป็นเพียงพอหรือไม่ ดูตัวอย่าง จ.แม่ฮ่องสอน ที่ยังมีเสน่ห์และมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปท่องเที่ยวจำนวนมาก ก็เพราะความคดเคี้ยวของเส้นทาง และความยากลำบากในการเข้าถึงจึงเป็นเสน่ห์สำคัญ ที่ทำให้มีคนอยากเดินทางไปเยือน อ.อุ้มผาง ก็น่าจะคิดถึงจุดนี้และดึงมาเป็นจุดขายคือเป็นเมืองท่องเที่ยว ที่แม้เข้าถึงลำบากแต่ก็มีเสน่ห์และยังคงความเป็นธรรมชาติ มีทรัพยากรธรรมชาติ สภาพป่าเขาป่าไม้และสัตว์ป่าที่สมบูรณ์และสวยงาม” นายมโนพัศ กล่าว

อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ไม่ต้องมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอะไร เพราะเขา เคยมีการศึกษามาแล้ว และไม่ควรมีถนนสายนี้เลย โดยตนจะทำหนังสือชี้แจงไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เพื่อเสนอต่อรัฐบาลต่อไปว่าการสร้างถนนคลองลา-อุ้มผางมีความไม่เหมาะสมอย่างไร และเห็นว่าหากรัฐบาลอยากจะสร้างถนนเพื่อลดระยะเวลาการเดินทางก็มีแนวทางอื่นที่เหมาะสมมากกว่า คืออาจจะเจาะเป็นอุโมงค์ลอดภูเขาไปเลยก็ได้ แม้จะใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก แต่น่าจะกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยกว่า

...