รัฐบาลยังไม่อาจสรุปราคารับจำนำข้าวนาปีฤดูกาล 2556/57 ควรจะเป็นเท่าไร แต่ดูเหมือนว่าแม้รัฐบาลจะคงราคารับจำนำไว้เท่าเดิม ยังไม่อาจยกระดับรายได้ชาวนาให้พ้นจากความยากจนได้ เพราะชาวนายังขาดทุนไร่ละหมื่นกว่าบาท“จากการสำรวจต้นทุนการทำนาที่แท้จริงของชาวนา จ.ชัยนาท ในเขตชลประทาน ทำนา 2 ปี 5 ครั้ง มีต้นทุนสูงถึงไร่ละ 21,355 บาท ตัวเลขนี้จะไม่เหมือนของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เพราะการสำรวจของเรารวมหมดทุกอย่างที่เป็นต้นทุนที่แท้จริงทุกอย่างของชาวนา ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนค่าแรงของตัวเอง เงินที่ลูกหลานทำงานในเมืองส่งมาช่วยทำนา ต้นทุนค่าดอกเบี้ยจากการหยิบยืมและจากการซื้อเชื่อปัจจัยการผลิต รวมไปถึงค่าอาหารเลี้ยงดูบรรดาแรงงาน คนขับรถเกี่ยวข้าว รถไถนา รถตีดิน ซึ่งการสำรวจของทางการตัวเลขเหล่านี้จะไม่ปรากฏให้เห็น เลยทำให้ตัวเลขต้นทุนต่ำกว่าที่ชาวนาต้องใช้จ่ายจริง” รศ.จุฑาทิพย์ ภัทรวาท ผอ.สถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ชาวนามืออาชีพ บอกว่า สาเหตุที่ชาวนาทุกวันนี้มีต้นทุนสูงขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการทำนาในปัจจุบันเปลี่ยนไป จากทำเองเปลี่ยนมาเป็นผู้จัดการชาวนา คือ แทบจะไม่ทำนาเอง ใช้โทรศัพท์มือถือสั่งซื้อสั่งจ้างทุกอย่าง ตั้งแต่ปลูกไปจนถึงเก็บเกี่ยว เพราะโครงการรับจำนำเป็นแรงจูงใจให้ชาวนาเร่งทำเร่งปลูกให้ได้มากที่สุด ด้วยคิดว่าได้ข้าวมากจำนำได้เงินมาก โดยที่ชาวนาไม่รู้ว่าต้นทุนของตัวเองนั้นได้เพิ่มสูงขึ้นไปเท่าไรผอ.สถาบันวิชาการด้านสหกรณ์กล่าวอีกว่า ต้นทุนที่สูงถึงไร่ละ 21,355 บาท แบ่งเป็นต้นทุนค่าแรง 54% ค่าปัจจัยการผลิต 20.4% ค่าเช่าที่ดิน 10.4% และอื่นๆอีก 10.4% แต่ขณะเดียวกันชาวนากลับมีรายได้เฉลี่ยแค่ไร่ละ 10,400 บาท เท่ากับว่าชาวนายังขาดทุนอีกไร่ละ 10,955 บาทฉะนั้นทางออกที่ดีที่สุดในการช่วยชาวนา รศ.จุฑาทิพย์ เสนอว่า รัฐบาลควรหันมาเน้นนโยบายเรื่องลดต้นทุนทำนา จะได้ผลดีกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะยิ่งทำรับจำนำ ต้นทุนยิ่งสูง ชาวนายิ่งยากจน.