คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ๋ง! คิดค้นผ่าตัดย้ายเนื้อเยื่อบริเวณเข่าไปทดแทนเนื้อเยื่อในร่างกายของผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุรุนแรง จนไม่สามารถใช้งานได้ ทำให้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง...

เมื่อวันที่ 26 พ.ค. รศ.นพ.คณิตศ์ สนั่นพานิช อาจารย์ประจำภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การรักษาผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บรุนแรง ในกรณีถูกรถชน บาดเจ็บจากอาวุธ พิษจากงูกัด ส่งผลทำให้เนื้อเยื่อในร่างกาย เส้นเอ็น และกระดูกตายไป ทำให้ร่างกายไม่สามารถใช้งานได้ อาทิ เดินไม่ได้ ขยับไม่ได้ มือพิการ เหมือนเนื้อเยื่อในส่วนนั้นแหว่งไป ถ้าไม่สามารถหาอะไรเข้ามาทดแทนให้ร่างกายสร้างใหม่ ร่างกายในส่วนนั้นจะทำงานไม่ได้ ส่งผลให้คนไข้พิการไปในที่สุด ทางทีมงานวิจัยจึงได้คิดค้นงานวิจัย การศึกษาเส้นเลือดที่มาเลี้ยงกระดูก เส้นเอ็น และผิวหนัง บริเวณเข่าทางด้านใน หรือผิวหนังร่วมกับกระดูกพร้อมๆ กัน โดยการฉีดเจลาตินได้เป็นผลสำเร็จ จากการทดลองในคนไข้ 19 ราย

แพทย์ มช.เจ๋ง! คิดค้นผ่าตัดทดแทนเนื้อเยื่อ ช่วยผู้ป่วยไม่พิการ


รศ.นพ.คณิตศ์ กล่าวว่า วิธีการทำวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนที่ 1 ทำการทดลองผ่าตัดในผู้ป่วยจริง ส่วนที่ 2 ทำการทดลองในอาจารย์ใหญ่ โดยนำร่างอาจารย์ใหญ่มาฉีดเจลาตินผสมกับสีและสารทึบรังสีเข้าไปในหลอดเลือด แล้วทำการผ่าตัดศึกษาบันทึกรายละเอียดด้วยแว่นตาผ่าตัดขยาย 3.3 เท่า ร่วมกับการใช้การบันทึกภาพเส้นเลือดด้วยคอมพิวเตอร์ 3 มิติ เพื่อทำให้เห็นภาพหลอดเลือดที่ซับซ้อนได้อย่างชัดเจน และหลังจากนั้นวิเคราะห์ตำแหน่งเส้นเลือดว่าใช้ในการผ่าตัดย้ายเนื้อเยื่อ และศึกษารูปแบบลักษณะของเส้นเลือดและกระดูกผิวหนังว่าใช้พร้อมๆ กันได้กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งได้ทำการทดลองในอาจารย์ใหญ่อยู่ช่วงหนึ่งจึงมองว่าเป็นไปได้จริง หลังจากนั้นจึงได้นำความรู้นี้มาใช้กับคนไข้ จนในที่สุดการรักษาประสบความสำเร็จไปด้วยดี ใช้ได้ในผู้ป่วยหลายกรณี หลายอย่างด้วยกัน อาทิ ผู้ป่วยที่ต้องตัดเนื้อเยื่อออก กระดูกไม่ยอมติดหรือเอ็นหาย เพราะฉะนั้นการรักษาด้วยวิธีนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างมาก

...

แพทย์ มช.เจ๋ง! คิดค้นผ่าตัดทดแทนเนื้อเยื่อ ช่วยผู้ป่วยไม่พิการ


ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์จิรชาติ ไกรศรินท์ ผู้ช่วยคณบดีคณะแพทยศาสตร์ หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวเสริมว่า ปกติรองศาสตราจารย์ นายแพทย์คณิตศ์ สนั่นพานิช มีความชำนาญในการผ่าตัดจากอวัยวะจากส่วนอื่นอยู่แล้ว แต่ได้มองเห็นช่องทางในการผ่าตัดใหม่ว่า การใช้ผิวหนังจากบริเวณนี้มีข้อได้เปรียบหลายอย่าง อาทิ ความง่ายของการผ่าตัด โดยแผลที่ใหญ่เพียงพอสามารถนำเอาไปใช้ได้ง่าย ผิวหนังมีความบางเมื่อเทียบกับผิวหนังบริเวณอื่นเหมาะกับการใช้ในบริเวณมือและตามส่วนข้อต่อต่างๆ ซึ่งหากผ่าตัดย้ายผิวหนังที่หนามาทดแทนจะทำให้ขาดความสวยงามไป และที่ผ่านมาทางทีมวิจัยได้รับความร่วมมือจากอาจารย์ในภาควิชาออร์โทปิดิกส์หลายท่านด้วยกันเป็นอย่างดี รวมถึงภาควิชากายวิภาค ภาควิชารังสี ที่ทำให้ประสบความสำเร็จจากงานวิจัย ลำพังภาควิชาออร์โทปิดิกส์อย่างเดียว อาจจะไม่สามารถทำงานชิ้นนี้ให้สำเร็จได้

แพทย์ มช.เจ๋ง! คิดค้นผ่าตัดทดแทนเนื้อเยื่อ ช่วยผู้ป่วยไม่พิการ


สำหรับผลงานวิจัยครั้งนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติที่เป็นที่รู้จักทั่วโลกคือ Plastic and Reconstructive Surgery ซึ่งมีสมาคมศัลยกรรมตกแต่งแห่งประเทศอเมริกาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2556 และภาพจากงานวิจัยยังได้ถูกเลือกขึ้นปกวารสาร ถือเป็นงานที่ประสบความสำเร็จและนำชื่อเสียงมาสู่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นอย่างมาก.