"เอแบคโพลล์" เผยผลสำรวจ คนส่วนใหญ่หนุนรัฐออกกฎหมายเอาผิดพ่อแม่ปล่อยเด็กเล็กอยู่บ้านลำพัง เชื่อสังคมออนไลน์ โซเชียลเนตเวิร์ก เสี่ยงทำให้เด็กโตเสียตัวมากที่สุด แนะนายกฯ ตอบปัญหาสังคมมากกว่าประเด็นการเมือง...

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 56 ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.เอแบคโพลล์ ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และ น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกันแถลงข่าวเปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง “เด็กเล็กเสียชีวิต เด็กโตเสียตัว” ในมุมมองของพ่อแม่และผู้ปกครองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,531 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20-22 พ.ค.ที่ผ่านมา

โดยพบว่าพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.4 ได้ยินข่าวอันตรายต่อชีวิตที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็กผ่านสื่อมวลชนบ่อยมากถึงมากที่สุด นอกจากนี้ ร้อยละ 86.4 ระบุว่า คุณครู พี่เลี้ยง พนักงานคนขับรถ ยังไม่ดูแลชีวิตของเด็กนักเรียนได้ดีเพียงพอ ร้อยละ 77.8 ระบุรัฐบาลยังไม่มีมาตรการดูแลความปลอดภัยในชีวิตของเด็กนักเรียนได้ดีเพียงพอ และร้อยละ 55.6 ระบุพ่อแม่ ผู้ปกครอง ยังดูแลชีวิตของลูกๆ ไม่ดีเพียงพอ ที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 55.7 เห็นด้วยถ้ารัฐบาลออกกฎหมายเอาผิดพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ปล่อยให้เด็กเล็กอยู่บ้านเพียงลำพัง อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 85.1 เห็นด้วยถ้าสื่อมวลชนช่วยผลักดันนโยบายสาธารณะที่ช่วยดูแลความปลอดภัยในชีวิตของเด็กเล็ก

นอกจากนี้ เมื่อสอบถามพ่อแม่ ผู้ปกครองถึงประเภทสื่อในสังคมไทยยุคปัจจุบันที่เสี่ยงอันตรายทำให้เด็กโตเสียตัว พบว่า ร้อยละ 76.2 ระบุเป็นสังคมออนไลน์ โซเชียลเน็ตเวิร์กมากที่สุด รองลงมาคือ ร้อยละ 66.2 ระบุเป็นการชักชวนพูดคุยกันในโลกออนไลน์ ร้อยละ 64.9 ระบุเป็นภาพยนตร์ แผ่นหนังโป๊ ร้อยละ 55.4 ระบุเป็นละครโทรทัศน์ในฉากเลิฟซีน เพศสัมพันธ์ ในขณะที่ร้อยละ 40.2 ระบุเป็นการเสนอภาพข่าวโทรทัศน์ข่มขืน ลวนลามทางเพศ และร้อยละ 33.4 ระบุเป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ตามลำดับ

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ปัญหาสังคมไทยเป็นปัญหาที่สังคมมักจะเอาข้อเท็จจริงมาเล่นแร่แปรธาตุปั่นให้เป็นกระแสชั่วคราวและก็มอดดับไป แต่ปัญหายังคงทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น จึงเสนอให้รัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หันมาสนใจปัญหาสังคมมากกว่าการตอบคำถามประเด็นการเมือง โดยเฉพาะการออกนโยบายสาธารณะและกฎหมายที่ทำให้เด็กและเยาวชนได้รับการดูแลความปลอดภัยมากขึ้น ดังนี้ ให้มีกฎหมายดำเนินการเอาผิดกับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ปล่อยให้เด็กเล็กอยู่บ้านตามลำพัง เสนอให้รัฐบาลมีนโยบายสาธารณะให้หน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ประเมินคุณภาพโรงเรียนผ่านเกณฑ์ด้านมาตรการดูแลความปลอดภัยของนักเรียนด้วยตัวชี้วัดต่างๆ รวมทั้งเสนอให้เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ เว็บไซต์จังหวัด หรือเว็บไซต์หน่วยงานรัฐที่ทำการตรวจมาตรฐานโรงเรียนประกาศรายชื่อโรงเรียน ผ่านไม่ผ่านเกณฑ์ดูแลความปลอดภัยของเด็กนักเรียนให้สาธารณชนรับทราบ ในส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด

ด้าน น.ส.ลัดดา กล่าวว่า ในสังคมไทยจะมีสื่อที่ไม่ปลอดภัย สื่อไม่สร้างสรรค์และเป็นปัญหาเชื่อมโยงไปในมิติต่างๆ เช่น การรวมกลุ่มกันของเด็กและเยาวชน โดยไม่มีผู้ปกครองดูแลในร้านอินเทอร์เน็ต ร้านเกมส์ เด็กอาจถูกล่วงละเมิดทางเพศ กลายเป็นเหยื่อ นำไปสู่ถ่ายภาพลามกส่งไปยังประเทศต่างๆ หรือการค้าประเวณี เป็นต้น ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง เป็นส่วนสำคัญที่มีส่วนร่วมดูแลเด็กให้ตระหนักถึงแนวทางป้องกัน ระวังไม่ให้เด็กเข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง นอกจากนี้ ส่วนภาครัฐควรมีการอันดับความเหมาะสมของสื่อ ทำเรตติ้งของสื่อทางทีวี ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และมีการผลักดันในด้านนโยบายของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ เพื่อสนับสนุนให้มีการสนับสนุนสื่อสร้างสรรค์ในสังคมไทย โดยให้งบประมาณจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ ไปสร้างสาระเชิงบวกให้เด็กและเยาวชน.

...