อธิบดีอุทยานฯ เผยเตรียมคล้อง “ช้างเผือก” แก่งกระจานถวายในหลวง  เชื่อมีลักษณะสำคัญอย่างใดอย่างหนึ่งตามคชลักษณ์  รอสำนักพระราชวังยืนยันคาดทราบผลภายในสัปดาห์หน้า สั่งอารักขาเข้มหวั่นหลุดเข้าประเทศเพื่อนบ้าน...

เมื่อเวลา 10.00 น.  วันที่ 23 เม.ย. ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เป็นประธานการประชุมเรื่องการแก้ไขปัญหาช้างและการค้างาช้าง โดยมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น  เข้าร่วมประชุม

นายมโนพัศ หัวเมืองแก้ว อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงกรณีการพบช้างเผือกในเขตอุทยานฯ แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นข่าวดีและเป็นมงคล หลังจากได้รับรายงานจากนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานฯ แก่งกระจาน ได้สั่งการให้จัดกำลังคนเข้าไปดูแลพื้นที่เพิ่มจำนวน 100 คน รวมทั้งมีการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานฯ กับหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เข้าไปดูแลอย่างเข้มขึ้น  เพราะเกรงว่าเมื่อเป็นข่าวออกไปจะมีการลักลอบเข้ามาจับช้างตัวดังกล่าวออกไป เพราะได้รับรายงานว่ามีค่าตัวถึง 6 ล้านบาท  ซึ่งช้างเผือกเป็นที่ต้องการของประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน และช้างในพื้นที่แก่งกระจานนี้มีการเดินข้ามฝั่งไปมาระหว่างเขตประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ในช่วงที่ผ่านมาประเทศเพื่อนบ้านมีการคล้องช้างเผือกได้หลายตัว ซึ่งส่วนมากคล้องได้ตามแนวชายแดนทั้งฝั่งไทยและด้านอื่นๆ  หากรู้ว่าพื้นที่ใดมีช้างเผือกทางการก็จะมีการส่งเจ้าหน้าที่ติดตามกันอย่างจริงจัง เพราะถือเป็นสัตว์มงคลไม่ต่างจากประเทศไทย

อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวต่อว่า จากที่ได้เห็นภาพช้างเผือกในป่าแก่งกระจาน คิดว่าช้างดังกล่าวน่าจะใช่ช้างเผือกจริง อย่างไรก็ตาม ถึงไม่ใช่ช้างเผือกที่มีลักษณะตรงตามคชลักษณ์ทั้งหมด ลูกช้างตัวดังกล่าวเท่าที่เห็นจากภาพก็เป็นช้างที่มีลักษณะสวยงามมาก น่าจะเข้าลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ตาม พ.ร.บ.สำหรับรักษาช้างป่า พ.ศ.2464 ของกระทรวงกลาโหม  ซึ่งระบุถึง “ช้างสำคัญ” ที่มีมงคลลักษณะ 7 ประการ คือ 1. ตาขาว 2. เพดานขาว 3. เล็บขาว 4. ขนขาว 5. พื้นหนังขาวหรือสีคล้ายหม้อใหม่ 6. ขนหางขาว 7. อันฑโกศขาวหรือสีคล้ายหม้อใหม่ หรือหากมีมงคลลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งใน 7 อย่างนี้ ก็เข้าลักษณะ “ช้างสีประหลาด”  และอีกประเภทหนึ่งที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้คือ “ช้างเนียม”  มีลักษณะ 3 ประการ คือ พื้นหนังดำ งามีลักษณะดังรูปปลีกล้วย และเล็บดำ  ทั้งนี้เท่าที่เห็นได้จากภาพถ่ายช้างมีผิวหนังสีขาว และเล็บขาวชัดเจน อาจถูกจัดให้เข้าลักษณะช้างสีประหลาดได้  แต่ก็ต้องรอให้มีการตรวจพิสูจน์จากทางสำนักพระราชวังอย่างละเอียดอีกครั้ง  โดยในช่วงบ่ายตนจะลงพื้นที่แก่งกระจานเพื่อติดตามรายละเอียดเรื่องนี้ด้วย

“ที่สำคัญใน พ.ร.บ.สำหรับรักษาช้างป่า มาตรา 12 มีบทบัญญัติสำคัญ ระบุว่าผู้ใดมีช้างสำคัญ หรือช้างสีประหลาด หรือช้างเนียม โดยเหตุที่ตนจับได้ หรือโดยแม่ช้างของตนตกออกมา หรือโดยเหตุอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บรรดาช้างชนิดที่กล่าวมาแล้วนี้ต้องเป็นและคงเป็นสมบัติของแผ่นดินเสมอ ดังนั้น ขั้นตอนต่อจากนี้จะมีการหารือกันถึงแนวทางในการดำเนินการร่วมกับทั้งทางพื้นที่ ชุมชนโดยรอบและจังหวัด โดยสิ่งสำคัญที่สุดในระหว่างนี้คือการสนธิกำลังระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ทหาร ตำรวจ เข้าตรึงกำลังในพื้นที่เพื่อป้องกันช้างจากกลุ่มผู้ไม่หวังดี  จากนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวังพิสูจน์ว่าเป็นช้างที่มีลักษณะ ถูกต้องตามคชลักษณ์ ก็จะทำการคล้องช้าง  และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป โดยคาดว่าขั้นตอนทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายใน 1 สัปดาห์” นายมโนพัศ กล่าว

ด้าน นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางในการแก้ปัญหาช้างในภาพรวม ทั้งช้างป่าและช้างบ้าน ตามคำสั่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาช้างอย่างมาก และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาพร้อมทั้งรายงานความ คืบหน้าให้นายกฯ ทราบเป็นระยะๆ  โดยในส่วนของการแก้ปัญหาการค้างาช้างตามข้อกำหนดของภาคีอนุสัญญาไซเตส ประเทศไทยจะต้องส่งรายงานผลการดำเนินการต่อสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาไซเตส ภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้ 

รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นในเรื่องของการแก้ปัญหาช้างบ้านจะเร่งดำเนินการแก้ไข  พ.ร.บ.ตั๋วรูปพรรณช้าง ของกระทรวงมหาดไทย ที่จะให้มีการทำตั๋วรูปพรรณช้างตั้งแต่แรกเกิด – 1 ปี จากเดิมที่ทำตั๋วรูปพรรณเมื่อช้างอายุ 8 ปี ที่ทำให้เกิดปัญหาการลักลอบนำช้างป่ามาสวมตั๋วรูปพรรณ  นอกจากนั้นในส่วนของช้างป่ามีการหารือถึงการปรับปรุง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ที่จะให้เพิ่มโทษคนที่ทำผิดในเรื่องการลักลอบล่าช้างมากขึ้น เพราะปัจจุบันโทษเบามาก คือ ปรับ 4 หมื่นบาท จำคุก 4 ปี ทำให้คนไม่เกรงกลัวกฎหมาย ซึ่งอาจจะเพิ่มโทษเป็นปรับ 1 แสนบาท จำคุก 10 ปี เพื่อให้กฎหมายมีความเข้มแข็งมากขึ้น

นายธีรภัทร กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ต้องเพิ่มความเข้มข้นในเรื่องการดูแลช้างป่าให้มากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งอุทยานฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำนวน 68 แห่ง ที่มีช้างกระจายพันธุ์อยู่ประมาณ 3,000—3,500 ตัว ให้มีการทำแผนการจัดการช้างเป็นรายพื้นที่อย่างชัดเจน  โดยพื้นที่ที่มีปัญหาช้างป่าอย่างรุนแรงคือ อุทยานฯ แก่งกระจาน  เขตรักษาพันธุ์สลักพระ จ.กาญจนบุรี และอุทยานฯ เขาชะเมา-เขาวง จ.ระยอง  เป็นต้น  ส่วนการพบช้างเผือกในพื้นที่อุทยานฯ แก่งกระจานนั้น เวลานี้ก็ต้องรอการตรวจพิสูจน์ยืนยันจากสำนักพระราชวังอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากรมอุทยานฯ ได้รับรายงานว่าพบช้างที่มีลักษณะเป็นช้างสำคัญในหลายพื้นที่ และล่าสุดเพิ่งมีหลักฐานยืนยันในพื้นที่แก่งกระจาน.

...