สธ.เดินหน้าสังคมไทยปลอดบุหรี่-เหล้า ผ่านไปยังอำเภอทั่วประเทศ หลังไทยดื่มเหล้าติดอันดับ 5 ของโลก มีสิงห์อมควันมากถึง 11.5 ล้านคน พบว่าตลาดเป็นแหล่งรับควันบุหรี่มือสองมากสุด รองลงจากบ้านและที่ทำงาน...

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2556 นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การสูบบุหรี่และการดื่มสุราเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม นำไปสู่การจัดทำนโยบายและมาตรการต่างๆ รวมถึงกฎหมายเพื่อป้องกันควบคุมการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค มีเป้าหมายที่จะทำให้ประชาชนมีสุขภาพดีถ้วนหน้า สังคมไทยปลอดบุหรี่และสุรา จำเป็นต้องมีการพัฒนากฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์ และมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ให้เกิดแรงสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพและความร่วมมือให้แต่ละอำเภอควบคุมยาสูบ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งขยายผลให้เกิดการดำเนินการครอบคลุมไปทั่วทุกจังหวัดของประเทศ     

พร้อมระบุว่า ปัจจุบันการควบคุมการบริโภคยาสูบ ได้มีการดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่าย มาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 20 ปี และมีกฎหมายที่สำคัญในกำกับดูแล 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ซึ่งมีสาระสำคัญ เพื่อมุ่งคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ และยังมีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 19 พ.ศ.2553 เพื่อขยายขอบเขตสถานที่สาธารณะที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ออกไปอย่างกว้างขวาง และครอบคลุมพื้นที่สาธารณะ และสถานที่ทำงานภายในอาคารทุกแห่ง โดยให้ความสำคัญในการป้องกันอันตรายจากควันบุหรี่มือสอง ส่วนการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้มีการดำเนินมาตรการด้านกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และได้กำหนดให้มีผู้รับผิดชอบดำเนินการขับเคลื่อนในระดับจังหวัดในรูปแบบของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด

นอกจากนี้ ปัจจุบันยังพบว่าผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปยังไม่ทราบกฎหมาย และยังพบการละเมิดกฎหมายอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้น หน่วยงานของรัฐและองค์กรเครือข่ายระดับพื้นที่ จึงมีบทบาทสำคัญที่จะต้องเข้ามาเป็นแกนหลักในการดำเนินงานร่วมกับชุมชนและภาคประชาสังคม ให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินการในระดับพื้นที่ให้ครอบคลุมมากที่สุด

ด้าน นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันการสูบบุหรี่ยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ โดยภาพรวมสถานการณ์การบริโภคยาสูบในประเทศไทย จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ.2554 พบว่า อัตราการบริโภคยาสูบปัจจุบันชนิดมีควันของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป อยู่ที่ร้อยละ 21.40 (11.5 ล้านคน) เพิ่มขึ้นจากสองปีที่ผ่านมา คือในปี พ.ศ.2552 ร้อยละ 20.70 (10.91 ล้านคน) และผลสำรวจการได้รับควันบุหรี่มือสองในช่วง 30 วันก่อน ของประชากรนอกเขตเทศบาล ในปี พ.ศ. 2554 ยังพบว่า ตลาดสด/นัด เป็นสถานที่ที่ประชาชนได้รับควันบุหรี่มือสองมากที่สุด ร้อยละ 69 รองลงมาเป็นที่บ้าน และสถานที่ทำงาน ร้อยละ 41.4 และ 35.2 ตามลำดับ

สำหรับสถานการณ์การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันดับที่ 40 ของโลก โดยเฉพาะเหล้ากลั่นดื่มมากเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยมีปริมาณ 13.59 ลิตร/คน/ปี จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เมื่อปี 2554 พบว่าผู้บาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุจราจร จำนวน 80,962 ราย โดยผู้บาดเจ็บ 1 ใน 3 มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย และคดีทำร้ายร่างกาย 15,714 ราย พบว่ามีการดื่มแอลกอฮอล์ถึงร้อยละ 45.

...