เปิดศูนย์เรียนรู้ป่าชุมชนแรกของประเทศ เลือก "ห้วยไร่บูรพา" จ.อุดรธานี จาก 8,000 แห่ง เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ภายใต้โครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” ด้านกรมป่าไม้หวั่นนายทุนฮุบ...

เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 56 ที่ป่าชุมชนห้วยไร่บูรพา ต.อูบมุง อ.หนองวอซอ จ.อุดรธานี กรมป่าไม้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ทำพิธีเปิดและมอบ “ศูนย์เรียนรู้ป่าชุมชนบ้านห้วยไร่บูรพา” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ภายใต้โครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” ให้กับผู้นำชุมชนบ้านห้วยไร่บูรพา นายประลอง ดำรงไทย ผอ.สำนักจัดการป่าชุมชน กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้ป่าชุมชนบ้านห้วยไร่บูรพา ถือเป็นศูนย์เรียนรู้ป่าชุมชนแห่งแรกของประเทศไทยจากป่าชุมชนที่มีทั้งหมด 8,548 แห่งทั่วประเทศ ศูนย์เรียนรู้ฯ จะเป็นจุดศูนย์กลางการพัฒนาป่าชุมชนและแหล่งเรียนรู้ที่มีมาตรฐานให้กับชุม ชนอื่นๆ นำไปเป็นแบบอย่างในการพัฒนาป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติต่อไป โดยในปี 2556 จะมีการเปิดศูนย์เรียนรู้ป่าชุมชนอีก 2 แห่งคือ ที่ป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี ต.หนองโรง อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี และศูนย์เรียนรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติ อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ผอ.สำนักจัดการป่าชุมชน กล่าวต่อว่า ส่วนการจัดตั้งป่าชุมชนในปี 2556 มีเป้าหมายจะจัดตั้งให้ได้มากกว่า 1,500 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งถ้ารวมกับป่าชุมชนที่มีอยู่แล้วกว่า 8 พันแห่ง ประเทศไทยจะมีป่าชุมชนมากกว่า 1 หม่ืนแห่ง หมายความว่าประเทศไทยจะมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ทั้งป่าชุมชนจะเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชาวบ้านด้วย ที่สำคัญ ป่าชุมชนจะกลายเป็นเครือข่ายครอบคลุมและเชื่อมโยงกันทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ถือเป็นปราการที่สามารถป้องกันและรักษาผืนป่าของประเทศไว้ได้อย่างเห็นผล เป็นรูปธรรม เมื่อถามว่าป่าชุมชนทั่วประเทศพบปัญหาความล้มเหลวบ้างหรือไม่

นายประลอง กล่าวว่า พบประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ปัญหาคือความขัดแย้งในพื้นที่เป็นหลัก ชาวบ้านบางแห่งถูกกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่เข้าไปยุยงสร้างความแตกแยกแล้ว ใช้ช่องว่างดังกล่าวเข้าไปยึดครองป่าชุมชนเป็นของตนเองเพื่อเป็นแหล่งผลประโยชน์

ด้านนายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนชั้นนำของไทย มีเจตนาแน่วแน่ที่จะปกป้องรักษาป่าให้เป็นปอดของประเทศ เป็นแหล่งฟอกอากาศบริสุทธิ์ เพื่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคนในสังคม บริษัทฯ เห็นว่าเจตนารมณ์ของกรมป่าไม้ที่มุ่งมั่นส่งเสริมป่าชุมชน เป็นวิถีทางที่ถูกต้องที่จะรักษาผืนป่าให้คงอยู่ จึงเสนอตัวเข้ามาร่วมขับเคลื่อนแนวคิดนี้กับกรมป่าไม้ ภายใต้โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน มาตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน และศูนย์การเรียนรู้ป่าชุมชน เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการฯ มุ่งหวังให้เป็นเครื่องมือช่วยขยายผลการพัฒนาและจัดการด้านป่าชุมชน  

“บริษัทฯ ดีใจที่ศูนย์เรียนรู้ป่าชุมชนบ้านห้วยไร่บูรพาเกิดจากความต้องการของพี่น้อง ในชุมชน ที่ตั้งใจจะใช้อาคารหลังนี้เป็นศูนย์กลางถ่ายทอดความรู้และส่งต่อจิตสำนึก อนุรักษ์ให้แก่ทุกคนในชุมชนและผู้มาเยือน ทำให้ศูนย์แห่งนี้เป็นเสมือนสัญญลักษณ์ที่แสดงเจตนารมณ์ของทุกภาคส่วน และทุกคนในชุมชนที่ยืนหยัดร่วมกันดูแลรักษาป่าไม้ของประเทศให้ยั่งยืนชั่วลูกชั่วหลาน ความสำเร็จของโครงการนี้มาจากความร่วมมืออย่างดียิ่งของกรมป่าไม้ และชุมชนบ้านห้วยไร่บูรพา ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะสร้างศูนย์กลางสำหรับถ่ายทอดและขยายผลแนวคิดป่าชุมชน ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้จะช่วยกระตุ้นให้ชุมชนอื่นๆ เกิดความตื่นตัวในการทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และสามารถ เพิ่มจำนวนป่าชุมชนแบบทวีคูณให้กับสังคม” นายนพพล กล่าว

นายนพพล กล่าวอีกว่า ป่าชุมชนบ้านห้วยไร่บูรพา นับเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง มีความร่วมมือของชุมชนในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ โดยได้น้อมนำแนวพระราชดำริด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาบริหารจัดการป่าอย่างมีประสิทธิภาพและการสร้างเครือข่ายชุมชน จนทำให้สามารถรักษาฟื้นฟูผืนป่าแห่งนี้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ ลักษณะป่าชุมชนบ้านห้วยไร่บูรพา  เป็นป่าเต็งรังธรรมชาติที่มีคุณค่า มีพรรณไม้นานาชนิดทั้งต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นกระบก ต้อก่อ ต้นมะกอกเหลี่ยม อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชสมุนไพรนานาชนิดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมีอยู่ เป็นจำนวนมาก เช่น หนอนตายอยาก กระชายป่า กระเจียว โดยเฉพาะดอกกระเจียวประทุมาสีชมพูที่ออกดอกบานสะพรั่งเต็มพื้นป่าในฤดูฝนต้น ฤดูหนาว นอกจากนี้ ยังมีสัตว์ป่าที่พบเห็นได้ทั่วไป เช่น กระรอก กระต่ายป่า กระแต บ่าง ที่สำคัญ ยังมีโป่งนกเป้า (นกเป้าลงมากินดินในฤดูแล้ง) น้ำตกบะอ่าง ต้นข่อยหินที่ออกดอกขาวสะพรั่งเต็มลานหิน มีถ้ำจันใด (ลักษณะเป็นชะง่อนหินขนาดใหญ่) ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่น่าสนใจ สำหรับศูนย์เรียนรู้ป่าชุมชนบ้านห้วยไร่บูรพามีพื้นที่ประมาณ 20 ไร่.

...