ไข้หวัดนก โรคห่า ยังคงเป็นปัญหาการเลี้ยงไก่ในบ้านเรา...จะให้ปลอดภัยต้องเลี้ยงในโรงเรือนระบบ ปิดหรือที่เรียกกันว่า...อีแวป
แต่วันนี้นักวิจัยไทย โดย นายสุชาติ สงวนพันธุ์, นางภคอร อัครมธุรากุล, น.ส.เรญา ม้าทอง และนางจุฑามาศ จงรุจิโรจน์ชัย จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตสัตว์ปีก สถาบัน
สุวรรณวาจกกสิกิจเพื่อการค้นคว้าและพัฒนาปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน สามารถผสมไก่พันธุ์ใหม่ที่สู้กับโรคเหล่านี้ได้แล้ว
โดยนำไก่พื้นเมืองของไทยพันธุ์ “ตะเภาทอง” ซึ่งทนต่อโรคในพื้นที่ มาผสมกับไก่พื้นเมืองจากจีนพันธุ์ “ซาอี้ หรือ สามเหลือง” ซึ่งมีคุณสมบัติทนต่อโรคไข้หวัดนก จนประสบความสำเร็จและให้ชื่อพันธุ์ใหม่นี้ว่า...ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์
นอกจากทนต่อโรคร้ายได้แล้ว ยังได้ไก่ที่มีรูปร่างสมส่วน มีหงอนแบบจักร หงอนหินแบบไก่พื้นเมือง ขนสีเหลืองทอง แข้งสีเหลือง จะงอยปากเหลือง หนังเหลืองเรียบเนียน เนื้อนุ่มหวานเป็นเอกลักษณ์การเลี้ยงง่ายไม่ยุ่งยาก ระยะแรกเกิดต้องกกให้ความอบอุ่นประมาณ 1-2 สัปดาห์ ให้อาหารในปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง เพื่อกระตุ้นให้ลูกไก่กินอาหารได้ดี อายุประมาณ 15-20 วัน... ควรขยายพื้นให้ได้ขนาด 3×4 เมตร=12 ตารางเมตร ต่อการเลี้ยง 100 ตัว อายุได้ 3-4 สัปดาห์ เริ่มปล่อยออกนอกโรงเรือน และเมื่อไก่เริ่มจิกกินใบไม้ใบหญ้า สามารถนำหนวดข้าวโพดฝักอ่อน, ฝรั่ง, ชมพู่, ผักบุ้ง, แตงกวา, หยวกกล้วย, แหน, หญ้าขน ฯลฯ ที่อยู่ในท้องถิ่น มาสับผสมกับรำทำเป็นอาหารเสริมให้ไก่กิน เพื่อลดต้นทุนค่าอาหารและเพิ่มมูลค่าทรัพยากรในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย
ใช้เวลาเลี้ยงแค่เพียง 3–4 เดือน ไก่จะมีน้ำหนักเฉลี่ยตัวละ 2.2 กก. ขายได้ กก.ละ 80–100 บาท...ในขณะที่ไก่พื้นบ้านต้องเลี้ยงนานถึง 6 เดือนกว่าจะขายได้
สนใจจะเลี้ยงไก่พันธุ์ใหม่นี้ ติดต่อภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน 0—3428—1078—9 ในเวลาราชการ.
...
ไชยรัตน์ ส้มฉุน