นพ.ประเสริฐ  ทองเจริญ

ปี 2556 “งูเห่าน้ำ” พ่นพิษ ปรากฏการณ์ “โลกร้อน” แผลงฤทธิ์คุกคามมนุษยชาติ

ภาวะโลกร้อน!

คือการที่อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศบนโลกสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอากาศบริเวณใกล้ผิวโลกและน้ำในมหาสมุทร

จากข้อมูลของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ระบุว่า ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ พ.ศ.2448-2548 พบอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นถึง 0.74-0.18 องศาเซลเซียส และจากแบบจำลองการคาดคะเนภูมิอากาศพบว่าในปี พ.ศ.2544-2643 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 1.1 ถึง 6.4 องศาเซลเซียส

สาเหตุของภาวะโลกร้อนส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์เป็นต้นตอที่ทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งส่งผลให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น ทั้งการเผาผลาญถ่านหินและเชื้อเพลิง รวมไปถึงสารเคมีที่มีส่วนผสมของก๊าซเรือนกระจก และเมื่อก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ลอยขึ้นไปรวมตัวกันอยู่บนชั้นบรรยากาศของโลก ส่งผลให้รังสีของดวงอาทิตย์ที่ควรจะสะท้อนกลับออกไปในปริมาณที่เหมาะสม ต้องถูกก๊าซเรือนกระจกเหล่านั้นสกัดกั้นหนทางการระบายออกไป ผลลัพธ์คือทำให้อุณหภูมิของโลกค่อยๆ สูงเพิ่มขึ้นจากเดิม

...

แน่นอนผลกระทบของภาวะโลกร้อน ที่เห็นชัดเจนที่สุด คือ สภาพลมฟ้าอากาศที่ผิดเพี้ยนไปจากในอดีต และยิ่งนับวันภัยพิบัติจากธรรมชาติก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้ง น้ำท่วม แผ่นดินไหว พายุต่างๆ รวมถึงสภาพอากาศที่ร้อนผิดปกติจนถึงขั้นคร่าชีวิตผู้คนในหลายประเทศ

มหันตภัยจากภาวะโลกร้อนที่คุกคามมนุษย์ไม่ได้มีเพียงแค่จากภัยธรรมชาติ แต่ยังมีผลกระทบอีกด้านที่หลายคนอาจจะลืมนึกถึงกัน ทั้งๆ ที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าภัยธรรมชาติเลย

นั่นก็คือภาวะโลกร้อนยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคระบาดชนิดใหม่ๆ และโรคระบาดซ้ำ ซึ่งหมายถึงโรคระบาดที่เคยหายไปแล้วก็กลับมาให้ได้เห็นใหม่ รวมถึงพาหะนำโรคที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ราชบัณฑิต สาขาแพทยศาสตร์ ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และที่ปรึกษากรมควบคุมโรค สะท้อนภาพของโรคอุบัติใหม่ และโรคอุบัติซ้ำที่เกิดมาจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน ว่า ผลกระทบของภาวะแวดล้อม สภาพอากาศที่แปรปรวน อากาศร้อนจัดในประเทศหนาว และหนาวจัดในดินแดนที่เคยอบอุ่น หิมะไม่ตกแต่กลับตกในบางแห่งที่ไม่เคยปรากฏ ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เป็นเหตุให้เกิดความแห้งแล้ง หรือน้ำท่วมความชื้นก็เปลี่ยนแปลง เกิดพายุสลาตัน พายุไต้ฝุ่น เฮอริเคนบ่อยครั้ง น้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วกว่าปกติ น้ำทะเลขึ้นสูงและอากาศมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ทั้งสิ้น โดยทำให้ภูมิคุ้มกันโรคของมนุษย์อ่อนแอลง ความชุกชุมของสัตว์นำโรค พาหะนำโรค การแพร่กระจายและการขยายพันธุ์ของเชื้อก่อโรคมีมากขึ้น รวมทั้งจะเกิดโรคใหม่ๆอุบัติขึ้นในลักษณะของการระบาดด้วย

“จะมีทั้งโรคอุบัติใหม่ และโรคอุบัติซ้ำที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน ที่เห็นชัดสุดในขณะนี้คือ โรคอุบัติใหม่จากเชื้อไวรัสโคโรนา ชนิดใหม่ ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ คล้ายกับโรคซาร์ส แต่ยังไม่พบการระบาด มีรายงานพบผู้ที่ติดเชื้อนี้เพียง 2 ราย ส่วนโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำที่พบการระบาดในช่วงที่ผ่านมาคือ คอตีบ ที่พบระบาดในหลายจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งที่โรคนี้หายจากประเทศไทยไปนานกว่า 17 ปีแล้ว” ศ.นพ.ประเสริฐ ระบุชัด

หันกลับมาในส่วนของหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเรื่องสุขภาพของคนไทยโดยตรง ทางกระทรวงสาธารณสุขเอง ก็รับรู้และตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี และมีการตั้ง คณะกรรมการศึกษาผลกระทบและการปรับตัวด้านสุขภาพอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งประเทศไทย (Health and Climate Change Committee of Thailand : HCCT) ขึ้น โดยมี ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี และ ศ.นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ เป็นที่ปรึกษา และประธานคือ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อคอยติดตามผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดโรคต่างๆอย่างใกล้ชิด

ขณะที่ กรมควบคุมโรค ก็มีการเฝ้าระวัง 13 โรค ที่อาจจะมีการอุบัติขึ้นในประเทศไทยอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งมีทั้งโรคอุบัติใหม่ และโรคอุบัติซ้ำ ประกอบด้วย 1.โรคไข้กาฬหลังแอ่น 2. โรคไข้เลือดออก 3. โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์และเฮนดรา 4.โรคไข้หวัดนก 5.ไข้เหลือง 6.โรคชิคุนกุนยา 7. โรคมือเท้าปาก 8.โรคติดเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัสซูอิส 9.โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) 10.โรคทูลารีเมีย 11. โรคเมลิออยโดซิส 12.โรคลิชมาเนีย 13.โรควีซีเจดี หรือโรคสมองเสื่อมชนิดใหม่

นพ.วิชัย สติมัย ผอ.สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลงกรมควบคุมโรค ในฐานะกรรมการและเลขานุการ HCCT กล่าวว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศคือพาหะนำโรคพวกแมลงจะครบวงจรชีวิตเร็วขึ้น ทำให้เกิดจำนวนเพิ่มขึ้น และจาก 13 โรคที่ทางกรมควบคุมโรคเฝ้าระวังอยู่นั้นส่วนใหญ่จะเป็นโรคที่นำโดยแมลง เช่น โรคไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา โรคลิชมาเนีย เป็นต้น ดังนั้นสิ่งที่ทางคณะกรรมการฯ จะมุ่งเน้นดำเนินการคือการให้ความรู้ประชาชนให้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และรณรงค์ช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อม รวมทั้งทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะโลกร้อนที่จะส่งผลกับโรคต่างๆในประเทศไทยด้วย

“ทีมข่าวสาธารณสุข” เชื่อว่า สถานการณ์ทั้งหมดนี้เป็นการส่งสัญญาณเตือนภัยถึงโรคร้ายที่กำลังจะเกิดขึ้นจากผลของการเปลี่ยนแปลงไปของสภาพภูมิอากาศของโลก

...

และนำมาซึ่งสิ่งที่เราเริ่มวิตกกังวลอย่างยิ่ง คือ หากมนุษย์ยังไม่เรียนรู้ที่จะรัก และรักษาสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นแล้ว นอกจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น และเกิดถี่ขึ้นแล้ว มนุษย์ยังจะต้องสังเวยชีวิตกับโรคอุบัติใหม่ และโรคอุบัติซ้ำอีกมากมายอย่างแน่นอน

ณ วันนี้ คงถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องเริ่มตระหนักและหันกลับมาใส่ใจรวมถึงรู้จักรักษาสิ่งแวดล้อมกันให้มากขึ้น

เพราะยิ่ง “โลกร้อน” ร้อนมากขึ้นเท่าใด “โรคร้าย” ก็จะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว!!!

 

ทีมข่าวสาธารณสุข