กรมป่าไม้เผยพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมทั่วประเทศ 20 ล้านไร่ มีคนอยู่ 1 ล้านคน ชงรัฐบาลให้ สทก.แก้ปัญหา ด้านเอ็นจีโอรุมจวกนโยบายประชานิยมแจกป่าชี้ 'เตะหมูเข้าปากหมา' สุดท้ายไม่พ้นมือนายทุน ชาววนศาสตร์เย้ยอธิบดีป่าคนนอกออกลาย...

จากกรณีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมดำเนินออกใบรับรองสิทธิทำกิน (สทก.) ตามโครงการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ (แผนเร่งรัดการออกหนังสืออนุญาต สทก.) โดยเป็นการให้สิทธิทำกินกับราษฎร ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าตามมติ ครม. 30 มิ.ย.2541 กำหนดระยะเวลาตามแผนดำเนินการ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556-2558 ใช้งบประมาณทั้งหมดจำนวน 200 ล้านบาท โดยเร่งรัดดำเนินการออกเอกสาร สทก. จำนวน 2.5 แสนราย เนื้อที่ 2.5 ล้านไร่ นำร่องในพื้นที่ 13 ป่าสงวนแห่งชาติ  ใน 9 จังหวัด ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือน ธ.ค.นี้นั้น

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 7 พ.ย. นายสมัคร ดอนนาปี ผอ.สำนักจัดการที่ดิน กรมป่าไม้ กล่าวว่า ขณะนี้เกิดความสับสนในเรื่อง สทก.ที่เป็นการออกเอกสารสิทธิให้กับชาวบ้านที่ทำกินอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิมอยู่ แล้วไม่ใช่พื้นที่ใหม่  โดยเรามีการสำรวจตั้งแต่ช่วงปี 2541-2543 หลังรัฐบาลมีมติ ครม. 30 มิ.ย.2541 พบว่ามีพื้นที่ที่คนเข้าไปอยู่ในป่าทั้งหมด 6.4 ล้านไร่ โดยจะนำไปออก สทก.ในโครงการเร่งด่วนได้จำนวน 2.5 ล้านไร่  โดยมีเงื่อนไขว่าเป็นลุ่มน้ำชั้น 3 และ 4 ไม่ใช่ป่าสงวนฯ โซนอนุรักษ์ที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร หรือเป็นลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2 จึงจะสามารถดำเนินการให้สิทธิกับประชาชนได้โดยไม่ขัดกับมติ ครม.  

ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจล่าสุดประกอบการอ่านภาพถ่ายทางอากาศปี 2551 พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ทั้งสิ้นอีกจำนวน 20 ล้านไร่  ซึ่งถ้าหักออกจากพื้นที่เป้าหมายแรก 6.4 ล้านไร่ ก็จะเหลือพื้นที่ป่าอีกเกือบ 14 ล้านไร่ ที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิใดๆ รองรับ แต่มีประชาชนอาศัยอยู่แล้ว คาดว่าจำนวนไม่น้อยกว่า 5 แสน-1 ล้านคน ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ก็น่าจะออก สทก.เพิ่มได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร และหากเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล หน่วยงานราชการคงมีกำลังคนไม่พอในการดำเนินการ อาจจะต้องจ้างเอกชนเข้ามาร่วมกันสำรวจและออกใบรับรอง สทก.ด้วย

“โดยส่วนตัวแล้วปัญหาเรื่องที่ทำกิน เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานาน การออกเอกสาร สทก.เป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน โดยหลักการต้องดำเนินการกับเกษตรกรที่ไม่มีที่ทำกิน และการออกใบรับรองก็ไม่สามารถเปลี่ยนมือได้ เพราะกรมป่าไม้มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ถ้าไม่ปฏิบัติตามหน้าที่หรือทำผิดเงื่อนไขจะถูกเพิกถอนสิทธิ์ทำกิน ซึ่งกรมป่าไม้จะส่งเจ้าหน้าที่จะออกไปพบประชาชนที่ได้รับ สทก.อย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบการใช้ที่ดิน สทก.ว่าเป็นไปตามเงื่อนไขหรือไม่ ทั้งนี้ หากทิ้งที่ดินไว้เฉยๆ โดยไม่ทำประโยชน์ติดต่อกันเกิน 2 ปี ก็จะถูกเพิกถอนสิทธิ์ทำกินทันที” นายสมัคร กล่าว

ที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มีการประชุมเครือข่ายสมัชชาองค์กรด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติ และเครือข่ายสำนักอาสาสมัคร และเครือข่ายกรมส่งเสริมฯ โดยนายจักรพงศ์ ธนวรพงศ์ กรรมการสมัชชาฯ แถลงภายหลังการประชุมคัดค้านการดำเนินการของกรมป่าไม้ที่จะแจก สทก.ให้กับผู้บุกรุกป่า ว่า การแจกใบรับรอง สทก.ของกรมป่าไม้ ถือว่ามีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองแน่นอน เพราะเหตุใดจึงต้องแจกในพื้นที่ฐานเสียงของนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ที่เป็นพื้นที่นำร่อง ถึงแสนกว่าไร่ ถือเป็นนโยบายประชานิยม เพื่อมุ่งคะแนนเสียงมากกว่าการแก้ปัญหาการบุกรุกป่าอย่างยั่งยืน ที่สำคัญพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่กรมป่าไม้อ้างตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 ถามว่าวันนี้ถูกเปลี่ยนมือไปหมดแล้วหรือไม่

“นอกจากนั้น การที่อธิบดีกรมป่าไม้บอกว่าเอาที่ดินไปทำรีสอร์ตได้ แต่ต้องทำในลักษณะโฮมสเตย์  ก็เป็นการเล่นลิ้น เล่นคำ ไม่ได้สะท้อนการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด ผมกลัวว่าโครงการแจก สทก.จะเป็นการเตะหมูเข้าปากหมา อ้างชาวบ้านแต่สุดท้ายจะกลายเป็นไปอยู่ในมือของนายทุนหมด” นายจักรพงศ์ กล่าว

ขณะที่ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานสมัชชาฯ กล่าวว่า รัฐบาลคงต้องนิยามคำว่าป่าเสื่อมโทรมใหม่ เพราะหากมาตีความโดยพิจารณาว่าพื้นที่นั้นมีเนื้อไม้ต่ำคงไม่ได้ แต่ควรดูจากความสำคัญของระบบนิเวศ พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมจะมีลูกไม้อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากปล่อยไว้ประมาณ 10 ปี พื้นที่เหล่านั้นจะกลายเป็นป่าที่สมบูรณ์ได้ เช่น ในพื้นที่เขาแม่กระทู้ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ก็สามารถฟื้นฟูเป็นป่าสมบูรณ์ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นการจะนำเอาป่าเสื่อมโทรมมาแจกราษฎร มันไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่จะเป็นปัญหาที่นายทุนจะนำป่าไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นด้วย

ทั้งนี้ สิ่งที่เสนอมาจะสวนกระแสกับนโยบายปลูกป่าที่จะทำให้ทรัพยากรอยู่ต่อไปได้ ซึ่งการนำ สทก.ไปแจก โดยยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน จะเป็นการทำลายป่าอย่างแน่นอน พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเกิดขึ้นเพราะรัฐมีนโยบายแปลกๆ ปัญหาที่ทำกินก็ยังไม่เคยยุติลงได้ ดังนั้นควรจะมีกฎกติกาที่ชัดเจน ใครจะเป็นผู้รับประโยชน์ รวมทั้งกระบวนการทำงานด้วย ไม่ใช่เป็นเพียงนโยบายประชานิยม

“กรมป่าไม้จะสามารถตรวจสอบได้หรือไม่ ว่าจะไม่มีการเปลี่ยนมือไปยังนายทุนได้อีก ในการแก้ปัญหาที่ดินทำกินควรปฏิรูปที่ดินกระจายการถือครองอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่นำป่าเสื่อมโทรมมาจัดสรร เพราะทุกวันนี้นายทุนแค่ 1% ครอบครองที่ดินจำนวนมหาศาล แต่เกษตรกว่า 6 แสนคน กลับไม่มีที่ดินให้ครอบครอง และควรแก้ไขภาพรวมทั้งประเทศ ไม่ใช่เน้นแก้ไขบางจังหวัด เหมือนมีวาระซ่อนเร้นอยู่” นายหาญณรงค์ กล่าว

ด้าน นายวินัย ทรัพย์รุ่งเรือง นายกสมาคมศิษย์เก่าคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สมาคมฯ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะเอาป่าเสื่อมโทรมไปแจกชาวบ้าน เพื่อให้เอาไปทำอะไรก็ได้แม้แต่โฮมสเตย์ ทำไมไม่เอาป่าเสื่อมโทรมไปทำให้เป็นป่าสมบูรณ์ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ผ่านมาสมาคมฯ เคยทำหนังสือคัดค้านการนำคนนอกที่ไม่ได้จบด้านการป่าไม้มาเป็นอธิบดีกรมป่าไม้แล้ว และในที่สุดผลก็เป็นอย่างที่เห็นกันอยู่ คือการเอาไปป่าแจกในพื้นที่ฐานเสียงของนักการเมือง และก็พร้อมที่จะตอบสนองต่อการเมืองได้ทุกรูปแบบ โครงการแจก สทก.ถือเป็นประชานิยมสุดโต่ง สมาคมฯ จะประชุมเพื่อกำหนดท่าทีคัดค้านต่อรัฐบาลให้ถึงที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลการสำรวจพื้นที่ป่าที่มีราษฎรเข้าไปอยู่อาศัย ตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 ที่กรมป่าไม้ได้สำรวจในช่วงปี 2541-2543 พบว่ามีราษฎรอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า 4.5 หมื่นราย พื้นที่ 6.4 ล้านไร่ โดยเป็นการรวบรวมตัวเลขการถือครองจากราษฎรที่นำมาแจ้งกับกรมป่าไม้ในขณะนั้น  แต่จากการสำรวจและรังวัดแปลงที่ดินล่าสุดรวบรวมข้อมูลในปี 2555 นี้ พบว่ามีราษฎรอยู่ในพื้นที่ป่า 554,991 ราย มีพื้นที่ป่าทั้งหมด 5.2 ล้านไร่ ในพื้นที่ 487 ป่าสงวนฯ ทั่วประเทศ และยังมีพื้นที่ที่ต้องสำรวจเพิ่มเติมบางส่วน

ทั้งนี้ จากข้อมูลการรังวัดแปลงที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนฯ ทั้งหมดจำนวน 65 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่าจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าถูกบุกรุกมากที่สุด 3 อันดับแรก  คือ 1.จ.เพชรบูรณ์ เนื้อที่ 3.7 แสนไร่ 2.9 หมื่นแปลง ราษฎรจำนวน 2.4 หมื่นราย 2. จ.เชียงราย เนื้อที่ 3.3 แสนไร่ 7.9 หมื่นแปลง ราษฎร 5.8 หมื่นราย และ 3. จ.เลย เนื้อที่ 3.1 แสนไร่ 2.5 หมื่นแปลง ราษฎรจำนวน 2.5 หมื่นราย.

...