มหาวิทยาลัยไทย สร้างชื่อระดับโลกอีกครั้ง อาจารย์ IT ม.พายัพ คว้ารางวัลชนะเลิศหุ่นยนต์ประดิษฐ์มูลค่าไม่เกิน 10 ดอลลาร์ ส่ง Suckerbot ราคา 275 บาท ท้าชิงกับผู้เข้าร่วมแข่งขันอีก 28 ทีมจากทั่วโลก ในรายการ African Robotics Network (AFRON) เจ้าตัวชี้ คนไทยมีศักยภาพ พร้อมเป็นแบบอย่าง และนำไปพัฒนาต่อยอดให้กับนักศึกษา และผู้สนใจ...

มหาวิทยาลัยของไทย คว้ารางวัลชนะเลิศในการแข่งขัน African Robotics Network (AFRON) ซึ่งเป็นการแข่งขันเกี่ยวกับเทคโนโลยี และหุ่นยนต์ ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2555 นี้ โดยความน่าสนใจของการแข่งขันนี้คือ มีจุดประสงค์หลักเพื่อค้นหาหุ่นยนต์เพื่อนำมาใช้สำหรับการศึกษาให้กับเด็กๆ ในประเทศที่กำลังพัฒนา และด้อยพัฒนา และข้อกำหนดที่น่าสนใจคือ มูลค่าต้นทุนในการสร้างหุ่นยนต์เพื่อส่งเข้าประกวดต้องไม่เกิน 10 ดอลลาร์ สหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 300 บาท

ในการแข่งขันครั้งนี้ แบ่งการแข่งขันเป็นทั้งหมด 3 ประเภท คือ หุ่นยนต์ควบคุมด้วยการใช้สายบังคับ, หุ่นยนต์ควบคุมแบบไร้สาย และหุ่นยนต์แบบ All in one ซึ่งประเทศไทยได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภท หุ่นยนต์ควบคุมด้วยการใช้สายบังคับ ซึ่งควบคุมการสร้างขึ้นโดย ดร.โทมัส ทิลลี่ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยพายัพ

...

ดร.โทมัส กล่าวว่า เมื่อทราบข่าวว่าจะมีการเปิดเวทีแข่งขัน African Robotics Network (AFRON) นี้ขึ้น ก็รู้สึกว่าเป็นเวทีที่น่าสนใจ และได้ปรึกษากับอาจารย์หลายๆ ท่าน พร้อมด้วยทีมงาน ที่ช่วยให้คำปรึกษา และได้สร้างผลงาน เพื่อส่งเข้าแข่งขันรายการนี้

“ส่วนตัว ผมได้เข้ามาสอนหนังสือ และอยู่ในเมืองไทยเป็นเวลาเกือบ 5 ปีแล้ว มีความรู้สึกว่าคนไทย นักวิชาการ อาจารย์ของไทย มีศักยภาพมาก ซึ่งในครั้งนี้ผมก็เหมือนเป็นส่วนหนึ่ง และเป็นตัวแทนของอาจารย์จากประเทศไทย ที่ได้ส่งผลงานไปเข้าร่วมการแข่งขัน ผมได้รับคำปรึกษาดีๆ จนคว้ารางวัลนี้กลับมาได้ ดีใจที่ได้สร้างชื่อให้วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยพายัพ โดยเฉพาะสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ อีกทั้งเวทีนี้ยังเป็นการนำผลงานของเราไปเพื่อให้เด็กด้อยโอกาสได้ศึกษาและเรียนรู้ต่อ ก็น่าจะมีการต่อยอดที่ดี และที่สำคัญคือให้เด็กไทยได้ศึกษา พร้อมนำไปพัฒนาเพื่อสร้างความก้าวหน้า ให้กับวงการเทคโนโลยีของไทยต่อไป”

ดร.โทมัส กล่าวถึงหุ่นยนต์ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศว่า ผลงานชิ้นนี้ได้แนวความคิดมาจากการ hacking joystick แล้วเห็นว่าใน joystick สามารถใส่มอเตอร์เพื่อทำเป็นล้อเข้าไปสองข้าง และยังสามารถเขียนโปรแกรมเข้าไปควบคุมการทำงานได้ จึงนำ joy stick มาเป็นโครงของหุ่นยนต์ ซึ่งต้นทุนมาจาก joy stick ราคา 117 บาท ลูกอม Chupa Chups 15 บาท ตัวต้านทาน 4 ตัว 2 บาท หลอด led 2 ตัว 26 บาท ตัวต้านทานชนิดที่ไวต่อแสง 2 ตัว 41 บาท screw terminal block 1 ตัว 12 บาท ลูกปัด 2 ชิ้น 0.5 บาท และอุปกรณ์อื่น รวมทั้งหมด 275 บาท ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหมดเป็นอุปกรณ์ที่หาซื้อได้ง่ายจากร้านขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป ส่วน joystick หาซื้อได้จากร้านคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เกมทั่วไป จึงง่ายต่อการประกอบและทำเป็นหุ่นยนต์ ส่วนการเขียนโปรแกรมควบคุมการทำงาน ใช้ภาษา object pascalในการควบคุม ดังนั้นการหาอุปกรณ์ที่ง่าย ราคาไม่แพง และการเขียนโปรแกรมควบคุมที่ไม่ได้ซับซ้อนมาก จึงน่าจะเป็นเหตุผลที่คณะกรรมการเลือกให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ

...

ทั้งนี้ การแข่งขัน African Robotics Network (AFRON) จัดขึ้นปีนี้เป็นปีแรก โดยได้รับความสนใจจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันนี้ 28 ทีมจากทั่วโลก โดยสรุปผลการแข่งขันได้ดังนี้

ประเภทหุ่นยนต์ควบคุมด้วยการใช้สายบังคับ

1. Suckerbot (ประเทศไทย) ดร.โทมัส ทิลลี่ จากสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาลัยนานาชาติมหาวิทยาลัยพายัพ

2. Baobot (อเมริกา) Shawn H., Carlos M., Bryan S., Eric C. จาก Hobbyists (Baobot.org), Washington, D.C.

3. Afrobot (อเมริกา) Alexander Reben

4. RoboArm (ไนจีเรีย) ADEBOLA Simeon O.M. จาก Department of Mechanical Engineering, ObafemiAwolowo University, Ile-Ife,

ประเภทหุ่นยนต์ควบคุมแบบไร้สาย

1. Kilobot (อเมริกา) Michael Rubenstein, Christian Ahler, and RadhikaNagpal จาก Wyss Institute at Harvard University, Cambridge

2. SwarmRobot (ประเทศจีน) Lutz Michaelis, Edward Jiang, Sun Wei Ze, Leo Yan, SpencerFeatherstone จาก XinCheJianHackerspace, Shanghai

3. SEG (อเมริกา) Tyler Hamer, Alexander E. Siy, KojoWelbeck, CagdasD.Onal, and DanielaRus MIT Computer Science and Artificial Intelligence Laboratory

4. DiscBot (อเมริกา) Joseph Schlesinger ArcBotics LLC.

...


ประเภท all in one


1. MITBOTS (ประเทศอินเดีย) Karanpreet Singh, AmiteshRanjan, PawanSaini จาก MITBOTS, Delhi

2. N-Bot (ประเทศบราซิล) Rafael V. Aroca, Renata Pitta, AquilesBurlamaqui and Luiz M. G. Goncalves จาก Federal University of Rio Grande do Norte, Natal


ข้อมูลภาพจาก www.tomtilley.net/projects/suckerbot

...

เว็บไซต์ของการแข่งขัน http://www.robotics-africa.org/design_challenge.html