กระบวนการศึกษาค้นคว้าเพื่อหาคำตอบ เพื่อพัฒนา หรือเพื่อประเมินด้วยการใช้กระบวนการวิจัย ซึ่งเป็นการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ถือเป็นงานวิชาการที่เป็นงานวิจัย (Research Study) และในการดำเนินการดังกล่าวมีกระบวนการและขั้นตอนที่ต้องใช้เงื่อนไขของการกำหนดสถานการณ์ของการศึกษาค้นคว้าในหลายขั้นตอน บางครั้งการสร้าง “สนามความจริงที่ถูกบิดเบือน (Reality Distortion Field หรือ RDF)” และ “การจัดกระทำที่หลอก ลวง พราง (Deception)” เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานวิจัยด้วยเช่นกัน
สนามความจริงที่ถูกบิดเบือน (RDF) เป็นวาทกรรมที่ใช้ในการบรรยายคุณลักษณะพิเศษของ สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ในหนังสือ ประวัติของสตีฟ จ็อบส์ ที่เขียนโดย วอลเตอร์ ไอแซคสัน (Walter Isaacson) ที่แสดงถึงการที่ จ็อบส์ พยายามให้ผู้อื่นเชื่อใน “สิ่งที่มีความเป็นได้น้อยว่ามันมีความเป็นไปได้จริง” ซึ่งได้รับการวิจารณ์ว่า จ็อบส์ เป็นผู้ปฏิเสธความจริง แต่สิ่งที่ จ็อบส์ ได้ทำนั้นบางครั้งประสบความสำเร็จ และกลายเป็นความจริงขึ้นมาได้ ตัวอย่างที่นำเอามากล่าวอ้างเสมอคือ ตอนที่ จ็อบส์ สามารถทำให้ สตีเฟน วอชเนียก (Steven Wozniak) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Apple และเป็นผู้มีความสามารถมากทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ ลงมือทำเกมที่เล่นกับคอมพิวเตอร์ให้กับ Atari ขึ้นมาโดยใช้ชิพเพียง 45 ตัว (น้อยกว่า 50 ตัวที่คาดไว้) และสามารถทำแล้วเสร็จได้ภายใน 4 วัน ซึ่งปกติต้องใช้เวลานับเดือนกว่าจะทำงานลักษณะนี้ได้ การทำแบบนี้ถือว่า เป็นการสร้างสนามความจริงที่ถูกบิดเบือน ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีการตั้งชื่อการกระทำนี้
ต่อมาพบว่าแนวความคิดการสร้างสนามความจริงที่ถูกบิดเบือนนี้มาจากภาพยนตร์ชุด Star Trek ในตอนที่ชื่อว่า “The Menagerie” ประกอบด้วย สองตอน มีตอนที่ 1 และตอนที่ 2 แต่ยังไม่สามารถหาคำพูดหรือ วลี ที่มีคำว่า Reality Distortion Field ว่าอยู่ตรงไหน หรือใคร เป็นคนพูด อย่างไรก็ตาม พัฒนาการของเทคโนโลยีในปัจจุบันมีหลายอย่างที่มาจากจินตนาการในภาพยนตร์ชุด Star Trek จำนวนมาก เช่น ประตูเปิด-ปิดอัตโนมัติ โทรศัพท์มือถือ ชื่อของระบบปฏิบัติการ Symbian ชื่อของระบบปฏิบัติการ Android และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง iPad ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับอุปกรณ์ที่ใช้บนยานอวกาศ Starship Enterprise ทั้งสิ้น คงเหลืออยู่อีกอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญมากแต่ปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้จริงตามจินตนาการของภาพยนตร์ชุดนี้คือ การเคลื่อนย้ายมวลสารในอัตราความเร็วกว่าแสง
การสร้างสถานการณ์ที่ไม่เป็นจริงเพื่อนำไปใช้ โดยหวังผลให้เกิดจริงมีหลักการและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องเช่น กระบวนการแห่งผลของพิกมาเลียน หรือ The Pygmalian Effect ทฤษฎีตั้งสมญานาม หรือ Labeling Theory และ กระบวนการเติมเต็มคำพยากรณ์แห่งตน หรือ Self-fulfilling Prophecy เป็นต้น ผู้สนใจในรายละเอียดสามารถสืบค้นดูได้จากคำสำคัญดังกล่าวที่เป็นภาษาอังกฤษ
กระบวนการ RDF อาจได้ผลดีสำหรับการวิจัยเชิงพัฒนา ตามลักษณะที่เป็นที่มาของวาทกรรมนี้ แต่อย่างไรก็ตาม การขยายความในการกระทำของ RDF ไปสู่กระบวนการวิจัยที่มีหลายขั้นตอนอาจต้องมีการระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น ในขั้นของการกำหนดปัญหาวิจัยที่มีจุดประสงค์ขอรับทุน หรือเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา หรือ ใช้เป็นผลงานวิชาการในการกำหนดตำแหน่ง พบว่ามีการใช้ RDF ในการกำหนดปัญหาวิจัยจำนวนมาก การวิจัยลักษณะนี้บางครั้งเป็นการวิจัยที่ต้องการให้มีงานวิจัยเพราะถูกบังคับเป็นข้อกำหนดในการทำงานให้ทำวิจัย หรือเพื่อใช้อ้างอิงมากกว่าต้องการอยากได้ผลหรือต้องการผลไปใช้ หรือตอบสนองความอยากรู้อย่างแท้จริง จึงมีการพยายามสร้างงานวิจัยขึ้นให้ได้ ซึ่งมีผลให้ความน่าเชื่อถือของงานวิจัยเกิดขึ้นตั้งแต่การยอมรับในสภาพปัญหาวิจัย และขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งที่พบว่ามีการใช้ RDF คือ ขั้นการทดลอง ที่มีการจัดกระทำ และเก็บรวบรวมข้อมูล การจัดกระทำเพื่อการเก็บข้อมูลภายใต้สถานการณ์ของ RDF เป็นสภาวะที่เป็นข้อจำกัดหรือข้อตกลงของการวิจัยอย่างมาก ส่งผลให้ความน่าเชื่อถือของงานวิจัยลดลง เนื่องจากไม่อยู่บนฐานของความเป็นจริง
กระบวนการ RDF มีความใกล้เคียงกับการหลอก ลวง พราง หรือ Deception แต่ไม่เหมือนกัน ในการทำวิจัยที่ใช้การหลอก ลวง พราง หรือ Deception เป็นการโกหก หลอกลวง ปกปิด ไม่บอกความจริง ให้ผู้เกี่ยวข้องในการวิจัยทราบ โดยเฉพาะตัวอย่าง (Subjects) ที่ใช้ศึกษา เพื่อให้อยู่ในเงื่อนไขของการวิจัยที่จำเป็นต้องหลอก ลวง ปกปิด เรื่องราวทั้งหมดหรือบางส่วน แต่การวิจัยที่ต้องใช้วิธีนี้ส่วนมากจะมีการแก้ไขหรือแจ้งให้ทราบภายหลังจากการกระบวนการวิจัยเสร็จสิ้นลง หรือมีการแก้ไขเยียวยาให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ หรือเท่าเทียมกันกับตัวอย่างในกลุ่มอื่นๆ การวิจัยที่ใช้การหลอก ลวง พราง หรือปกปิดยังมีความจำเป็นสำหรับการทำงานวิจัย แต่การแก้ไขให้กลับสู่สถานะเดิม หรือใกล้เคียงให้มากที่สุดเป็นจริยธรรมและคุณธรรมของนักวิจัยที่ต้องยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
การวิจัยที่ใช้ RDF บางส่วนเกิดจากจินตนาการปัญหาวิจัยเพราะการบังคับ กึ่งบังคับ เร่งรัด หรือกำหนดให้ต้องมีงานวิจัย และยึดถือว่า “งานวิจัย” เป็นผลงานสำคัญของครู/อาจารย์หรือบุคลากรทางการศึกษาในทุกระดับ ทำให้มีปริมาณงานวิจัยออกมาจำนวนมาก ส่วนหนึ่งของงานวิจัยนั้นเป็นงานวิจัยที่อยู่บนฐานของสนามความจริงที่ถูกบิดเบือนหรือ RDF ตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดปัญหาวิจัยจนถึงขั้นสรุปผลและอภิปรายผลเพื่อนำไปใช้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจส่งผลต่อคุณภาพงานวิจัยที่เผยแพร่อยู่ในปัจจุบัน
...
รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์