“ปลอดประสพ” แจงแผนป้องกันน้ำท่วม ชี้ใช้เงินถึง 3.5 แสนล้าน สร้างเขื่อนเพิ่มล้อมนครสวรรค์ อุทัยธานี อยุธยา พร้อมออก ก.ม.ห้ามถมที่ดินยกพื้นตามอำเภอใจ เปลี่ยนป่าทั่วประเทศเป็นแหล่งซับน้ำ ส่วนงานใน กทม.ยังอืด เหตุ บ.เอกชนรับลอกคลองบางซื่อ-ลาดพร้าว ขอเลิกสัญญา...
เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่โรงแรมวรบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย แห่งชาติ (กบอ.) จัดสัมมนา เรื่องการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย โดยได้เชิญตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น ประมาณ 40 คน จาก 40 บริษัท รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) เข้ารับฟัง นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ และประธาน กบอ.บรรยายพิเศษเรื่อง กรอบการบริหารจัดการน้ำในปี 2555 ว่า รัฐบาลมีความจริงใจ และเอาจริงกับการแก้ปัญหาอุทกภัย โดยทุ่มงบประมาณมากกว่า 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่มากกว่าการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิถึง 3 เท่า รวมทั้งตั้งองค์กรเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำขึ้นมาใหม่ เพื่อแสดงความจริงใจ ต่อนักลงทุนชาวต่างชาติ ตลอดจนประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อประเทศไทยว่าปีนี้น้ำจะไม่ท่วมอย่างเด็ด ขาด
รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวต่อว่า รัฐบาลแก้ไขปัญหาน้ำท่วมปีนี้ โดยทำให้คนไทยเห็นว่าน้ำเป็นมิตร ไม่ใช่ศัตรู เพราะต้องยอมรับว่า สถานการณ์น้ำท่วมในช่วงปลายปี 2554 ที่ผ่านมาทำให้คนไทยกลัวน้ำ ขณะที่การบริหารจัดการน้ำปีที่ผ่านมาก็ผิดพลาดมาจากรัฐบาลก่อนหน้านี้ จนกลายเป็นน้ำท่วมที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 1,000 ปี ของประเทศไทย เพราะฉะนั้นปีนี้รัฐบาลจึงได้เตรียมการรับมือ โดยตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.เป็นต้นไป จะมีการพร่องน้ำ 3 จุด คือ จุดแรก พร่องน้ำที่เขื่อน โดยเฉพาะที่เขื่อนภูมิพล กับเขื่อนสิริกิติ์ ที่ขณะนี้คุมปริมาณน้ำให้อยู่ที่ 45% ทั้งนี้เพื่อให้เขื่อนมีประสิทธิภาพในการตัดยอดน้ำได้ 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเท่ากับปริมาณน้ำที่ท่วมประเทศไทยเมื่อปลายปี 2554 จุดที่สอง ได้เตรียมพื้นที่แก้มลิงไว้ 2.1 ล้านไร่ เป็นแก้มลิงในพื้นที่ชลประทาน 1.3 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทานอีก 8 แสนไร่ และจุดที่สาม จะมีการพร่องน้ำในทุกลำน้ำของประเทศไทย โดยเฉพาะน้ำใต้เขื่อน ที่จะสามารถตัดน้ำไม่ให้เข้าสู่หัวเมืองสำคัญได้
นายปลอดประสพ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้รัฐบาลจะสร้างแนวป้องกันน้ำ โดยการสร้างเขื่อนเพิ่มในพื้นที่สำคัญ แม้ว่าจะมีการต่อต้าน เนื่องจากคนไทยไม่คุ้น ไม่รับรู้และเข้าใจกับระบบการป้องกัน แต่รัฐบาลจะต้องทำ ซึ่งขณะนี้ได้สร้างเขื่อนรอบนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วมแล้ว ซึ่งมีความคืบหน้ามาก ขณะเดียวกันก็จะมีการใช้ถนนในรอบ กทม.ประมาณ 500 กิโลเมตร ยกขึ้นเป็นแนวเขื่อนเพื่อกั้นน้ำ ในขณะที่เมืองสำคัญ เช่น อ.เมือง จ.นครสวรรค์ อ.เมือง จ.อุทัยธานี หรือที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ก็จะทำแนวเขื่อนหุ้มจังหวัดชั้นในเอาไว้ เพื่อไม่ให้กระทบกับการลงทุน ในอนาคตยังจะมีการวางผังเมืองให้สอดคล้องกับสภาพการไหลของน้ำ โดยผังเมืองจะสามารถป้องกันน้ำได้ โดยขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อวางยุทธศาสตร์วางผังเมืองใหม่เพื่อปกป้องน้ำ และจะมีกฎหมายห้ามถมดินยกพื้นตามอำเภอใจ เพื่อป้องกันน้ำท่วม โดยให้มีการกำหนดความสูงในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน
รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ที่สำคัญรัฐบาลได้ใช้งบประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อฟื้นฟูป่าไม้ใหม่ โดยจะเปลี่ยนจากป่าที่ไม่ดูดซับน้ำเป็นป่าที่ดูดซับน้ำ ซึ่งป่าที่ไม่ดูดซับน้ำคือ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง เป็นต้น โดยจะเปลี่ยนให้เป็นป่าดิบทั้งหมด ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 25 ปี จึงจะเห็นผล โดยการเปลี่ยนป่าใหม่ให้เป็นป่าดิบจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค.นี้ เป็นต้นไป เป็นโครงการต่อเนื่องระยะแรก 5 ปี โดยเริ่มต้นที่ป่าต้นน้ำเจ้าพระยา ซึ่งถ้าสำเร็จจะสามารถดูดซับน้ำได้ 3.5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น เชื่อว่า ระบบที่รัฐบาลสร้างมาทั้งหมด เพื่อให้นักลงทุนมั่นใจ และแสดงถึงความจริงใจในการป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาล
...
นายปลอดประสพ กล่าวถึงมาตรการป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาลว่า เชื่อว่านักลงทุนชาวญี่ปุ่นจะมั่นใจ เพราะดูจากการที่นักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นยังไม่ย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทย ไปที่อื่นมากนัก แม้จะมีการเคลื่อนย้ายบ้างก็ยังไม่มาก
เมื่อถามว่าในการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ชั้นในอย่างกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในส่วนของการขุดลอกคลองบางซื่อ และคลองลาดพร้าว คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ทั้งสองคลองดังกล่าว ตนเป็นคนรับผิดชอบ เพราะไม่มีใครรับที่จะทำ ยอมรับว่าไม่มีความคืบหน้ามากนัก เพราะบริษัทเอกชนที่มารับขุดลอกคลองบางซื่อกับคลองลาดพร้าว ขอยกเลิกสัญญา เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ที่มีบ้านเรือนบุกรุกคูคลอง มากกว่า 5 พันหลังคาเรือน ได้ออกมาต่อต้าน จะเผารถ เครื่องมือและขับไล่บริษัทที่เข้าไปดำเนินการถึง 2 ครั้ง ทำให้การขุดลอกคลองทำไม่ได้ ดังนั้นตนจะไปคุยกับทางกองทัพ เพื่อให้กองทัพเข้ามาดำเนินการ เพราะนอกจากกองทัพก็ยังไม่เห็นว่าใครจะทำเรื่องนี้ได้
เมื่อถามต่อว่า รัฐบาลไม่มีมาตรการอพยพหรือเคลื่อนย้ายประชาชนที่บุกรุกคูคลองบริเวณดัง กล่าวหรือไม่ รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวด้วยว่า ได้มอบให้กระทรวงมหาดไทยและ กทม.เข้าไปสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ที่มีการบุกรุก ขณะเดียวกันก็ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ไปศึกษาเพื่อหา ทางสร้างแฟลต ในพื้นที่อื่นที่ใกล้เคียงเพื่อให้ประชาชนเข้าไปอาศัยอยู่แทนพื้นที่ที่ บุกรุก ยอมรับว่าการเคลื่อนย้ายคนทำยาก เพราะอยู่มานาน ไม่เคยมีใครไปทำอะไร แต่ท้ายที่สุด ต้องให้กองทัพไปช่วยอีกแรง.