เปิดปฏิบัติการกู้ศักดิ์ศรี-ยกระดับคุณภาพชีวิตพนักงานมหาวิทยาลัย

73.57% ของพนักงานกลุ่มใหม่ในมหาวิทยาลัย 52 แห่ง ระบุว่า ต้องการดำรงสถานภาพเป็นข้าราชการ แทนการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย

นั่นคือผลสำรวจของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่ ด้วยเหตุผลเพราะต้องการได้รับศักดิ์ศรี ความสำคัญของความเป็นครูอาจารย์ เทียบเท่าครูอาจารย์ที่มีสถานภาพเป็นข้าราชการ นอกจากนี้ ยังสำรวจพบ 37% ของผู้ที่เป็นพนักงานมีความคิดที่จะลาออกหรือเปลี่ยนงาน


แม้หลายฝ่ายจะระบุว่า ขณะนี้เราเดินทางมาไกลเกินกว่าจะย้อนกลับไปในเส้นทางเดิมอีกแล้ว  เพราะระบบพนักงานมหา-วิทยาลัย ได้มีการวางระบบมา 13 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2542

“ทีมการศึกษา” ขอย้อนรอยความเป็นมาของระบบพนักงานมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นเพื่อทดแทนระบบข้าราชการ สืบเนื่องจากนโยบายการคุมกำเนิดข้าราชการ ซึ่งไม่มีอัตราข้าราชการเกษียณคืนให้ในสถาบันอุดมศึกษา ทั้งมีการจูงใจให้เข้าสู่ระบบใหม่ด้วยค่าตอบแทนที่สูงกว่าข้าราชการ โดยพนักงานสายวิชาการหรือสายผู้สอน จะมีอัตราเงินเดือนที่สูงกว่าสาย

วิชาการที่มีสถานภาพเป็นข้าราชการ 1.7 เท่า หรือร้อยละ 70 สายสนับสนุนได้รับมากกว่า 1.5 เท่า หรือร้อยละ 50 แต่ จะมีเกณฑ์การประเมินผลงานที่เข้มข้น เพื่อให้พนักงานสร้างผลงานให้คุ้มค่ากับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าข้าราชการและส่งผลต่อการทำสัญญาจ้างด้วย

ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็มีนโยบายสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ ปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐหรือมหาวิทยาลัยอิสระ มีระบบบริหารบุคคล การเงินที่คล่องตัว โดยมหาวิทยาลัยเก่าที่ยังไม่ออกนอกระบบ หรือมหาวิทยาลัยเก่าที่เปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยอิสระ ซึ่งอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จะมีระบบบริหารงานบุคคล 2 ระบบ ได้แก่ ระบบราชการและระบบพนักงาน ส่วนมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นใหม่ จะมีแต่ระบบพนักงาน

ถึงวันนี้มีมหาวิทยาลัยอิสระ 14 แห่ง และมีมหาวิทยาลัยเกิดใหม่ขึ้น ได้แก่ กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏและกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล รวมทั้งมหาวิทยาลัยเก่าที่ยังไม่ออกนอกระบบหรืออยู่ในระหว่างการปรับเปลี่ยนสถานภาพ ประมาณ 65 แห่ง แต่ละแห่งมีการบริหารงานบุคคลที่สร้าง ความพึงพอใจให้กับประชาคมที่แตกต่างกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขึ้นเงินเดือนข้าราชการหลายต่อหลายครั้ง แต่ไม่ครอบคลุมถึงพนักงาน โดยให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งใช้เงินรายได้ของตนเองเพิ่มส่วนต่างนั้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยขนาดเล็กและมหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่ที่มีเงินรายได้น้อย ทำให้ช่องว่างระหว่างค่าตอบแทนของข้าราชการและพนักงาน หดลงเหลือเพียง 0.2 เท่านั้น ขณะที่การประเมินเพื่อการจ้างงานของพนักงาน เป็นสัญญาจ้างรายปี ทำให้พนักงานขาดความมั่นคงในอาชีพ ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีสิทธิทำธุรกรรม ทางการเงิน ไม่สามารถกู้เงินได้ เพราะสัญญาจ้างรายปี ทำให้สถาบันการเงินไม่ปล่อยเงินกู้ให้ ทั้งหากมีแนวคิดที่แตกต่างหรือวิพากษ์วิจารณ์กับผู้บริหาร ก็อาจส่งผลให้ไม่ต่อสัญญาจ้างได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการอย่างมาก

นอกจากนี้ การกำหนดให้รายได้พนักงานสูงกว่าข้าราชการ 1.5 และ 1.7 เท่านั้น ในความเป็นจริงพนักงานส่วนใหญ่จะได้ต่ำกว่าที่กำหนด โดยมหาวิทยาลัยจะหักรายได้ 0.2 ไป สมทบเป็นเงินกองทุนเพื่อจัดสวัสดิการ ค่ารักษา พยาบาล บางแห่งนำพนักงานเข้าระบบประกันสังคม

“หลายคนจึงจำเป็นต้องหารายได้เสริมด้วยการขายประกัน ขายสินค้า ขายตรง หรือทำงานวิจัยเสริม บางส่วนมองหางานใหม่ โดยสมัครสอบบรรจุเป็นข้าราชการในกระทรวงอื่น ซึ่งมีความมั่นคงในอาชีพมากกว่า” รศ.น.ท.ดร.สุมิตร สุวรรณ ประธาน เครือข่ายพนักงานสถาบันอุดมศึกษา ระบุชัด พร้อมทั้งเรียกร้องให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหันมามองและแก้ไขปัญหานี้โดยด่วน  ก่อนปัญหาสมองไหลของกลุ่มพนักงานจะลุกลามมากกว่าที่เป็นอยู่ หรือผู้ที่อยู่ก็อยู่อย่างหมดกำลังใจ

และจากข้อเรียกร้องก็นำไปสู่การกำหนดเกณฑ์กลางในการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ โดยอธิการบดี ผศ.จริยา หาสิตพานิชกุล เป็น หนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ถูกหยิบยกให้เป็นตัวอย่างของการจ้างงาน การบริหารงานบุคคลและจัดสวัสดิการ ที่สร้างความพึงพอใจให้กับพนักงาน ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ก็ขานรับที่จะตั้ง คณะทำงานขึ้นแก้ไขปัญหาและอาจจะนำไปสู่การยกร่าง พ.ร.บ.พนักงานสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ...

ซึ่งสอดรับกับอนาคตใน 25 ปีข้างหน้า ที่มหาวิทยาลัยจะไม่มีข้าราชการอีกต่อไป โดยจะมีแต่พนักงาน จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับและจัดระบบการดูแลพนักงาน  เพื่อให้พนักงานทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับการสอนบัณฑิตอย่างมีคุณภาพ พร้อมกับพัฒนาผลงานวิชาการ งานวิจัย เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น ที่สำคัญสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นครูอาจารย์ในสังคมไทย

...


ทีมการศึกษา มองว่าเสียงสะท้อนจากความอัดอั้นตันใจและความทุกข์ของพนักงานมหาวิทยาลัย คือสิ่งที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย สภามหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาล ต้อง ไม่มองข้ามและควรต้องรับฟัง เพราะเป็นเสียงจากบุคลากรส่วนหนึ่งที่ช่วย ขับเคลื่อนประเทศ ที่สำคัญยังทำงานในระดับอุดมศึกษาที่เป็นแหล่งรวม “มันสมอง” ของประเทศ ทั้งยังเป็นเบ้าหลอมผลิตบัณฑิต เพื่อออกมาเป็น “มันสมอง” ผู้กำหนดชะตากรรมในอนาคตของประเทศ

คงไม่มีใครอยากเห็นบุคลากรที่มีส่วนสำคัญในการผลิตบัณฑิต ต้องฝ่อลงไปเรื่อยๆ เพราะหมดกำลังใจและเฉาตายไปในที่สุด.

ทีมการศึกษา