"สวัสดี...วันสงกรานต์" เวลาผ่านไปรวดเร็วจริงๆ เผลอแป๊บเดียว ก็เวียนมาบรรจบถึง "วันปีใหม่ไทย" อีกแล้ว เราเชื่อว่า ช่วงเวลานี้หลายคนคงเดินทางท่องเที่ยวกันอย่างเต็มที่ บ้างก็เดินทางกลับบ้านตามจังหวัด บ้างก็เล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน บ้างก็ไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ หรือบางคนอาจเดินทางไปพักผ่อนแบบไกลๆ ถึงเมืองนอกเมืองนาเลยก็ว่าได้...

ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ไม่อยากให้มองข้าม "เมืองไทย" เมืองสวรรค์ของเราไป สถานที่ท่องเที่ยวในเมืองไทยยังมีอีกมากมาย คุณๆ ลองนึกกันดีๆ ว่ามีที่ไหนบ้าง ที่เรายังไม่เคยไป หรือมีที่ไหนบ้าง ที่เราไม่รู้จัก จะว่าไป หากมีโอกาส เราก็ควรจะเชิญชวนคนอื่นจากแดนไกล เดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อนบ้านเรา ก็คงจะดีไม่น้อย อย่างน้อยเศรษฐกิจบ้านเราก็คงจะคักคึกน่าดู แถมยังเป็นการโปรโมตประเทศไทยเราอีกด้วย

'ข้าวแช่' อาหารสงกรานต์ ต้อนรับหน้าร้อน

มาเข้าเรื่องกันดีกว่า เมื่อถึงเทศกาลหยุดยาวอย่างนี้ ทุกคนก็คงจะมองหาแต่แหล่งท่องเที่ยว หรือสถานที่พักผ่อน เพราะคำพูดที่ได้ยินบ่อยๆ ช่วงนี้ก็เช่น "สงกรานต์ไปไหน" , "สงกรานต์นี้กลับบ้านรึเปล่า" , "ไปเล่นสาดน้ำที่ไหนกันดี" สุดแท้แต่จะได้เอื้อนเอ่ย แต่วันนี้ "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" มีเรื่องราวดีๆ เรื่องหนึ่งมานำเสนอ อย่างที่บอกใครๆ ก็มักจะกล่าวถึงสถานที่สำหรับเทศกาลสงกรานต์ แต่จะมีใครบ้าง? ที่จะนึกถึง "อาหาร" เนื่องในวันสงกรานต์กันบ้าง

...

"อาหาร" ที่กล่าวถึงอาจจะทำให้ใครหลายคนเข้าใจ และนึกว่าเป็นอาหารทะเลสดๆ หรืออาหารที่รสชาติจัดจ้านสุดแสนจะโปรดปราน แต่ "อาหาร" ที่กำลังจะพูดถึงต่อไปนี้ ก็คือ "ข้าวแช่" หลายคนเริ่มอ้อ... แต่จะมีสักกี่คน ที่มีโอกาสได้ลิ้มลองหรือได้กินข้าวแช่แบบไทยๆ เนื่องในเทศกาลดีๆ แบบนี้ คงต้องสรรหากันกินดู แต่เราจึงขอเริ่มที่ประวัติของ "ข้าวแช่" กันก่อนดีกว่า เพื่อความกระจ่างก่อนรับประทาน

'ข้าวแช่' อาหารสงกรานต์ ต้อนรับหน้าร้อน

ในสมัยโบราณ "ข้าวแช่" เป็นส่วนประกอบในเทศกาลสงกรานต์ของชาวมอญ โดยประเพณีโบราณกล่าวไว้ว่า "ข้าวแช่ได้เข้ามาในประเทศไทย โดยเริ่มจากภายในพระราชวัง โดยข้าราชบริพารได้นำข้าวแช่มาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และเป็นที่โปรดปรานของพระองค์ จึงนิยมรับประทานกันเฉพาะในบริเวณวังเท่านั้น ต่อมาหลังการเสด็จสวรรคต ข้าวแช่จึงได้ถูกเผยแพร่สู่ประชาชนทั่วไป โดยประชาชนเรียกว่า "ข้าวแช่ชาววัง" เพราะได้รับการเผยแพร่มาจากในวังนั่นเอง

ย้อนกลับไปที่ต้นเรื่องของข้าวแช่ชาวมอญ เกิดขึ้นจากการที่ชาวมอญได้หุงข้าวแช่เพื่อไปถวายพระในเทศกาลสงกรานต์ แต่ข้าวที่ใช้หุงนี้ จะไม่เหมือนกับข้าวที่หุงกินทั่วไป โดยใช้กรรมวิธีการหุงแบบพิเศษ เริ่มตั้งแต่การเลือกข้าวสารที่จะใช้หุงนั้น ต้องเป็นข้าวสารที่ดีเยี่ยม 7 กำ โดยผ่านการซ้อมมาแล้ว 7 ครั้ง และถูกนำมาซาวน้ำอีก 7 ครั้ง ก่อนที่จะนำมาหุง แถมเวลาหุงยังจะต้องหุงกลางแจ้งอีกด้วย จึงถือว่าเป็นอาหารพิเศษจริงๆ โดยเขาจะใช้หุงข้าวแช่เพื่อบวงสรวงเทวดา ถวายศาลเพียงตา เป็นเวลา 3 วัน ก่อนจะนำไปให้ผู้เฒ่าผู้แก่เพื่อความเป็นสิริมงคล

นอกจากนี้ยังมีวิธีการหุงข้าวแช่อีกหนึ่งวิธี ที่มาจากคำบอกเล่าของชาวบ้าน คือ ใช้ข้าวสารหุงจนเป็นตาปลาไม่ให้ข้าวบาน จากนั้นเทใส่ในกระบุง ล้างน้ำจนเย็น แล้วจึงใส่หม้อดิน ก่อนจะใส่หม้อดิน มีวิธีอบหม้อดินให้หอมด้วยการใช้แกลบเผาไฟ โดยตะแคงหม้อให้ควันไฟเข้าไปอบหม้อดิน อบ 1 วัน 1 คืน หรือบางคนก็อบ 3 วัน 3 คืน ก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน

'ข้าวแช่' อาหารสงกรานต์ ต้อนรับหน้าร้อน

ส่วนข้าวแช่ในประเทศไทย ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของหน้าร้อนไปแล้ว เมื่ออากาศช่วงเดือนเมษายนมักร้อนสุดๆ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายเราพุ่งปรี๊ดร้อนตามไปด้วย คนไทยก็สรรจะหาอาหารที่มาช่วยดับร้อนได้อย่างลงตัว โดยนำเอาข้าวแช่มาใส่น้ำฝน หยอดพิมเสนลงไปสัก 2-3 เกล็ด เพื่อเพิ่มความเย็นเวลาตักใส่ปาก แต่มาถึงยุคนี้สมัยนี้ ก็ดัดแปลงใส่น้ำแข็งลงกันไปเลย แถมลอยด้วยดอกมะลิ ให้รสชาติหอมชื่นใจ หรือจะเพิ่มสีสันด้วยกลีบดอกกุหลาบสีแดง สีชมพู ก็ตามแต่ แล้วอะไรจะน่ารับประทานขนาดนั้น...

'ข้าวแช่' อาหารสงกรานต์ ต้อนรับหน้าร้อน

...

แต่หยุดก่อน !!! อย่าเพิ่งตักข้าวแช่ใส่ปากเด็ดขาด เพราะมันยังขาดเครื่องเคียงของคาว ที่ประกอบไปด้วย "ลูกกะปิทอด" ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอาหารพิเศษจานนี้เลยทีเดียว ต่อด้วยพริกหยวกทอด, หัวหอมทอด, ปลาผัดหวาน, ผักกาดเค็มผัดหวาน, เนื้อเค็มฝอยผัดหวาน, ปลายี่สนผัดหวาน จะเห็นว่าเครื่องเคียงแต่ละอย่าง ไม่ได้ทำได้โดยง่าย แต่ละอย่างต้องมีกรรมวิธี และต้องใช้ความละเอียดอ่อนอย่างมากในการทำ เห็นเล่ากันแบบนี้ ไม่ได้ทำง่ายจริงๆ

ที่สำคัญการกินข้าวแช่ที่ถูกต้อง ต้องมีวิธีอีกสักเล็กน้อย เพื่อเพิ่มอรรถรสให้สมกับอาหารชาววัง แรกเริ่มต้องตักกับข้าว ซึ่งเป็นเครื่องเคียงเข้าปากเสียก่อน จากนั้นค่อยใช้ช้อนตักข้าวแช่ ที่แสนจะเย็นฉ่ำและหอมหวนตามเข้าไป แล้วค่อยๆ เคี้ยวทั้ง 2 อย่างเข้าด้วยกัน เราจะสัมผัสได้ถึงความกลมกล่อมของอาหารไทยๆ ได้อย่างถึงที่สุดเลยทีเดียว

'ข้าวแช่' อาหารสงกรานต์ ต้อนรับหน้าร้อน

สุดท้ายข้อดีของการกิน "ข้าวแช่" ก็คือ เมื่อสภาพอากาศบ้านเรามันร้อนขนาดนี้ เราควรจะบริโภคอาหารอาหารที่สอดรับกับสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ธาตุต่างๆ ในร่างกายเราเกิดความความสมดุลที่สุด และลดอาการเจ็บป่วยได้ เพราะข้าวแช่เป็นอาหารที่มีองค์ประกอบ คือ "น้ำ" ซึ่งจะช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายและคลายร้อนได้ ทำให้อาหารย่อยง่ายขึ้น แถมน้ำยังช่วยให้ผิวพรรณของเรามีความชุ่มชื่นเพิ่มขึ้นอีกด้วย เนื่องจากอากาศที่ร้อนจัด ร่างกายจะถ่ายเทความร้อนด้วยการขับออกมาเป็นเหงื่อปริมาณมาก เราจึงต้องดื่มน้ำให้มากเข้าไว้ในช่วงนี้ "ข้าวแช่" ก็เลยจัดเป็นอาหารที่เหมาะกับเทศกาลสงกรานต์เป็นที่สุด หากใครมีโอกาสอย่าลืมไปทำรับประทาน หรือไปหาทานกันดู ว่า "ข้าวแช่" มันอร่อยและเหมาะกับหน้าร้อนอย่างไร ???

...