ทีดีอาร์ไอเผยขึ้นค่าจ้าง 300 บาท เอสเอ็มอีรับผลกระทบมากสุดต้องปรับตัวลดคน หรือปิดกิจการ ชี้การปรับขึ้นค่าจ้างอย่างฉับพลัน หากไม่มีมาตรการรองรับที่ดี ผลกระทบอาจรุนแรงเกินคาด โดยเฉพาะต่อกลุ่มแรงงานทักษะต่ำ อายุน้อยไม่เกิน 25 ปี เสี่ยงตกงาน หรือถูกผลักไปทำงานนอกระบบ รับค่าจ้างต่ำกว่าขั้นต่ำ ไม่ได้รับสวัสดิการและคุ้มครองตามกฎหมาย... 

ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ทำการศึกษาผลกระทบของการดำเนินนโยบายรายได้ค่าแรงไม่น้อยกว่า 300 บาทต่อวัน โดยระบุว่า การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำยังจำเป็นต้องมีในบริบทของประเทศไทย และควรทำเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างระดับล่างที่มีอำนาจต่อรองน้อยให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริงลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 โดยปกติอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยนั้นจะกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้างภายใต้ ระบบไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายนายจ้าง และตัวแทนจากภาครัฐ ดังนั้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจึงสะท้อนถึงความไม่มีอำนาจในการต่อรองของฝ่ายลูกจ้าง

ดังนั้นการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นประโยชน์กับแรงงานภาคการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำและมีอำนาจต่อรองน้อย ซึ่งจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการจ้างงาน และการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างภาคการผลิตที่เป็นทางการและที่ไม่เป็นทางการ และจากการศึกษาเฉพาะกลุ่มแรงงานอายุ 15-24 ปี ซึ่งมีทักษะต่ำที่มีการศึกษาในระดับมัธยมปลายหรือต่ำกว่าเท่านั้น จะได้รับผลกระทบจากการปรับตัวของสถานประกอบการเอสเอ็มอี และกิจการขนาดใหญ่มากที่สุด

จากผลการศึกษาชี้ว่าเมื่อตกงาน แรงงานส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้จะเคลื่อนย้ายไปเป็นแรงงานธุรกิจครัวเรือนที่ไม่ได้รับค่าจ้าง หรือเป็นการว่างงานแฝง โดยประมาณการว่าหากค่าจ้างที่แท้จริงเพิ่มขึ้น 40% สัดส่วนการจ้างงานของแรงงานกลุ่มนี้จะลดลงจาก 81% เหลือ 70% ซึ่งเป็นการลดลงอย่างมากและมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้จะกลายเป็นผู้ว่างงาน และส่วนที่เหลือจะออกไปจากตลาดแรงงาน

...

"การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้แม้เป็นไปภายใต้นโยบายประชานิยมของรัฐบาล ตามที่หาเสียงไว้ และก็ดูเป็นธรรมกับลูกจ้างระดับหนึ่ง แต่การขึ้นค่าจ้างมากๆ แบบฉับพลัน มีโอกาสเกิดผลเสีย โดยเฉพาะผู้ประกอบการหรือภาคธุรกิจที่ไม่แข็งแรงพอ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเอสเอ็มอี  จึงควรมีมาตรการรองรับเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการปรับตัว เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสามารถเป็นแหล่งรองรับแรงงานในกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบไม่ต้องถูกเลิกจ้าง หรือถูกผลักไปสู่สภาพการทำงานที่แย่ลง หากไม่เตรียมการรองรับที่ดีผลกระทบที่เกิดขึ้นจะทำให้แรงงานระดับล่างอายุน้อยทักษะต่ำกลับไปอยู่นอกระบบเป็นจำนวนมาก เพิ่มสัดส่วนแรงงานที่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าขั้นต่ำและกฎหมายคุ้มครองไปไม่ถึงอย่างน่าเสียดาย"