ปี 2555 สปสช.ทุ่ม 631 ล้าน ดูแลผู้พิการ เผยในระบบประกันสุขภาพมีผู้พิการกว่า 4 แสนราย รอฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ...
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.มีหน้าที่สนับสนุนให้คนพิการทุกคนสามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ และได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพได้อย่างทั่วถึง เพื่อให้คนพิการได้รับสิทธิประโยชน์ และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรี จากผลการดำเนินงานการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปี 2554 มีผู้คนพิการลงทะเบียนสิทธิ์ ท74 ในระบบหลักประกันสุขภาพ 1,074,607 คน (ที่มา:ฐานข้อมูลทะเบียนกลาง สปสช. ณ 30 กันยายน 2554) ซึ่งมีจำนวน 398,045 ราย เข้ารับบริการตามประเภทความพิการ คือ การมองเห็น 45,141 ราย การได้ยิน 69,622 ราย การเคลื่อนไหว 184,960 ราย จิตใจและพฤติกรรม 50,864 ราย สติปัญญา 45,741 ราย การเรียนรู้ 1,717 ราย (ที่มา:โปรแกรมบันทึกข้อมูลเบิกอุปกรณ์ฯและการให้บริการฟื้นฟูฯ ณ 30 กันยายน 2554) โดยได้รับบริการด้านต่างๆ เช่น กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด การประเมิน/แก้ไขการพูด จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด การฟื้นฟูการได้ยิน การฟื้นฟูการเห็น Early Intervention Phenol block อุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการต่างๆ
รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ในปี 2555 ได้จัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวสำหรับฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แก่คนพิการ ผู้ป่วยในระยะเฝ้าระวัง และผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูในอัตรา 13.07 บาทต่อประชากร เพิ่มขึ้นจากปี 54 ที่จัดสรรให้ 12 บาทต่อประชากร รวมวงเงิน 631.712 ล้านบาท แบ่งเป็นงบค่าบริการฟื้นฟูและเครื่องช่วยความพิการ 536.955 ล้านบาท และงบสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการ 94.756 ล้านบาท ซึ่งผลลัพธ์ในการดำเนินการปี 2555 มีดังนี้ 1. ให้หน่วยบริการระดับ รพ.ชุมชนขึ้นไป มีระบบให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพ 2. ให้ รพ.สต.และกองทุนสุขภาพตำบลร่วมเป็นเครือข่ายให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพ 3. เกิดรูปแบบการร่วมให้บริการฟื้นฟูขององค์กรคนพิการ ชุมชน และองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร 4. องค์กรคนพิการพัฒนาศักยภาพขยายกลุ่มเครือข่ายร่วมพัฒนาระบบบริการ 5. เกิดกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ระดับจังหวัด อย่างน้อยเขตละ 1 จังหวัด 6. ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเฝ้าระวังให้ได้รับการฟื้นฟูและได้รับอุปกรณ์ที่จำเป็นเพิ่มขึ้น รวมถึงมีระบบข้อมูลคนพิการและระบบรายงานผลการให้บริการผ่านระบบไอที
นพ.ประทีป กล่าวด้วยว่า การดำเนินงานของ สปสช.ที่เกี่ยวกับคนพิการ ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือการให้บริการด้านการแพทย์แก่คนพิการ ซึ่งหมายรวมถึงการให้ความคุ้มครองด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ และการมีส่วนร่วมขององค์การคนพิการ เพื่อให้คนพิการได้รับสิทธิประโยชน์และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรีในสังคม ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยในระยะเฝ้าระวังและคนพิการได้รับบริการด้านการฟื้นฟู สมรรถภาพและอุปกรณ์เครื่องช่วยอย่างทั่วถึง ส่งเสริมให้เกิดรูปแบบการฟื้นฟูสมรรถภาพในสถานีอนามัย/รพ.ทุกระดับ เพื่อตอบสนองต่อความจำเป็นของคนพิการ และกลุ่มเป้าหมายที่มีความจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ในท้องถิ่นได้มากขึ้น รวมถึงส่งเสริมความเข้มแข็งขององค์กรคนพิการ และการพัฒนารูปแบบการดูแลช่วยเหลือคนพิการที่สามารถเชื่อมโยงกับสถานี อนามัย/รพ.ได้
ด้านนายธีรยุทธ สุคนธวิท ผู้อำนวยการศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า แนวทางของ สปสช.ที่ร่วมกับ รพ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้พิการได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลและได้รับกายอุปกรณ์เพื่อการดำรงชีวิตได้เช่นปกติ ทำให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งศูนย์ฯทำงานแลกเปลี่ยนกับผู้ให้บริการโดยได้มีโครงการนำร่อง 11 แห่งทั่วประเทศเพื่อให้คนพิการได้เข้าถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพมากขึ้นสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรีในสังคม
“ชื่นชมแนวทางของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ สปสช. ที่ให้ความสำคัญของการดูแลสุขภาพกายและใจของผู้พิการ จากเดิมที่ผู้พิการมักไม่ได้รับการใส่ใจด้านการรักษาและฟื้นฟู ทำให้ผู้พิการเข้าถึงบริการ ได้รับการดูแลที่ดีขึ้นและในโอกาสที่ สปสช.จะมีการเปลี่ยนแปลง อยากให้คนที่ดำเนินการอยู่เบื้องหลังตระหนักถึงแนวทางที่ดีที่ สปสช.ได้ดำเนินการมาก่อนด้วย” ผู้อำนวยการศูนย์การดำรงชีวิตฯ กล่าว
พ.ต.หญิง ชุติมา ป.ว.สังฆา หัวหน้าหอผู้ป่วยเวชศาสตร์ฟื้นฟู รพ.พระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับผู้พิการ แต่ยังเข้าไม่ถึงการดูแลฟื้นฟูฯ ซึ่งเมื่อได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายผู้พิการและ สปสช.แล้วเกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยมีการออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ทำงานด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ให้แก่ผู้พิการมานาน สิ่งสำคัญของการดูแลผู้พิการคือ การฟื้นฟูด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“ประเด็นที่อยากฝากให้ สปสช.ดำเนินการคือการส่งเสริมให้มีการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ของผู้พิการต่อไป ทั้งนี้ นับตั้งแต่คนไทยทุกคนได้รับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผู้พิการได้รับการดูแลที่ดีมากขึ้น กลุ่มผู้พิการที่เข้าถึงบริการยากก็ได้รับการดูแลที่ดีขึ้น ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาก ขณะที่หน่วยบริการก็สามารถให้บริการได้เต็มที่เพราะมีการสนับสนุนที่ดี” หัวหน้าหอผู้ป่วย กล่าว.
...