อธิบดีกรมอุทยานฯ เผย สัปดาห์หน้าลุยทับลานรื้อรีสอร์ต ลั่นเร็วๆ นี้จะลงนามในคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายหัวหน้าอุทยานฯ ที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ชี้เป็นการหมุนเวียนคนตามความเหมาะสม
เมื่อวันที่ 8 ก.ย. นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานจัดทำประชาพิจารณ์ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมในการจัดการอุทยานแห่งชาติอย่างยั่งยืน ถึงความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับผู้บุกรุกอุทยานแห่งชาติทับลานในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ว่า ได้ตรวจสอบคดีที่มีการบุกรุกอุทยานแห่งชาติทับลานในเบื้องต้นแล้ว พบว่ามีบ้านพักและรีสอร์ตหลายแห่งที่คดีสิ้นสุดแล้ว และศาลมีคำพิพากษาให้รื้อถอน ดังนั้นในสัปดาห์หน้าจะลงไปตรวจสอบ และอาจจะมีการรื้อถอนเลย โดยจะใช้รถแบ็คโฮเพราะไม่ต้องใช้กำลังคนมาก
ทั้งนี้ ตนจะนำรื้อถอนด้วยตัวเอง ไม่ต้องห่วง ได้เห็นการรื้อถอนทุบทิ้งแน่นอน นอกจากนี้ได้ให้กำลังใจนายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่ถูกเจ้าของที่ดิน ซึ่งเป็นนายทุนใหญ่และผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ฟ้องร้องกรณีเข้าไปตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ป่า ว่า จะช่วยเหลือเต็มที่ และถือเป็นเรื่องดีที่ปัญหาการบุกรุกอุทยานแห่งชาติจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่จะเข้ามาตัดสิน เพื่อจะได้เดินหน้าในการดำเนินการกับแปลงอื่นๆ ที่มาการบุกรุกต่อไปอีก
อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวต่อว่า นอกจากคดีรุกอุทยานแห่งชาติทับลานแล้ว ขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูง ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องเร่งดำเนินการ โดยในต้นสัปดาห์หน้าตนพร้อมกับ พล.ต.ต. จตุรงค์ ภุมรินทร์ รองจเรตำรวจ จะลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูจอง-นายอย อ.บุณฑริก อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี และใกล้เคียง เพื่อตรวจสอบพร้อมกับไปพูดคุยกับผู้มีอิทธิพลที่ถูกระบุว่าอยู่เบื้องหลัง ขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูง ขณะนี้มีรายชื่อหมดแล้ว รวมทั้งเครือข่ายขบวนการ บางคนเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ด้วย ที่รู้เห็นเป็นใจกับผู้มีอิทธิพล ถึงขนาดปล่อยให้มีการตัดไม้พะยูงที่หน้าอุทยานฯ เลย แล้วตัวเองก็ออกรถกระบะป้ายแดงขับกันสบาย โดยไม่สนใจว่าไม้พะยูงจะหมดไปจากป่า
...
นายดำรงค์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัญหาเรื่องเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ถือว่าสำคัญมาก ป่าจะหมดหรือจะอยู่ อยู่ที่ความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ ที่ผ่านมาหัวหน้าอุทยานฯ หลายแห่งใช้เส้นสายวิ่งเต้นกันเข้ามา รู้อยู่แก่ใจ บางคนมีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ไปเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติทางทะเล แล้วก็ทำงานไม่ได้ ว่ายน้ำไม่เป็น ลงเรือก็เมาคลื่น สั่งงานผ่านทางวิทยุ แล้วก็ทำธุรกิจทั้งแพปลา ตัดปะการังขาย เป็นต้น ดังนั้น เร็วๆ นี้จะลงนามในคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายหัวหน้าอุทยานฯ ที่ไม่เข้มงวด ที่ปล่อยให้มีการตัดไม้ทำลายป่า ทั้งอุทยานฯ ทางบกและทะเล ถือเป็นการหมุนเวียนคนตามความเหมาะสม นอกจากนั้นจะให้หัวหน้าอุทยานฯ ทำการประเมินการทำงานของตนเองภายใน 30 วัน นับจากมีคำสั่ง จากนั้นจะให้เวลาอีก 30 วันแก้ไขการทำงาน ถ้ายังไม่ดีขึ้นก็จะให้มานั่งทำงานที่กรม ถ้าดีก็อยู่ต่อ เพราะถ้าไม่ทำอย่างนี้ ปัญหาก็จะเกิดขึ้นเหมือนที่อุทยานแห่งชาติทับลานและอีกหลายพื้นที่ ทั้งเพชรบูรณ์ เชียงใหม่ เชียงราย เป็นต้น
ขณะที่ นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร กล่าวว่า ขณะนี้ 7 องค์กรสิ่งแวดล้อมของไทย ประกอบด้วย มูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มูลนิธิเพื่อการบริหารการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) มูลนิธิโลกสีเขียว มูลนิธิวิจัยนกเงือก มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และสมาคมอุทยานแห่งชาติ ยังให้การสนับสนุนกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ เพราะถือว่าเดินถูกทางแล้วในการจะนำป่าไม้และที่ดินกลับมาเป็นสมบัติของชาติ แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของชาวบ้านที่เป็นคนจนก็ต้องให้ความยุติธรรม คนรวยหลายคนที่ไปซื้อดินก็ขาดเจตนา
ดังนั้น ต้องใช้หลักนิติธรรม แต่สาระสำคัญต้องนำพื้นที่ป่า ที่ดินของรัฐกลับคืนมาจากนายทุน ซึ่งขณะนี้ 7 องค์กร กำลังจับตาดู เพราะการเมืองเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน และยืนยันว่าจะคัดค้านไม่ให้มีการเปิดป่าสงวนแห่งชาติเขาภูหลวง อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ให้กลุ่มนายทุน หรือนักการเมืองท้องถิ่นเช่าอย่างเด็ดขาด รวมทั้งจับตาการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติทับลานว่าจะไม่ถูกนำมาเป็นป่าสงวนเด็ดขาด ส่วนกรณีที่กลุ่มเอ็นจีโอในพื้นที่ออกมาคัดค้านกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ และไปเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มนายทุนนั้น ยังไม่ได้คุยกัน และคงไม่คุยเพราะไม่มีความเกี่ยวข้องกัน.