เครือข่ายเยาวชนต้านเหล้า ออกแถลงการณ์ประณาม “คอนเสิร์ตเรกเก้” ริมหาดชะอำ ลั่นผู้จัดงานต้องออกมารับผิดชอบ กฎหมายต้องบังคับใช้อย่างจริงจัง แนะเยาวชนร่วมต้านคอนเสิร์ตมีน้ำเมา ขณะที่ สคล. อัด ได้ไม่คุ้มเสีย เชื่อบริษัทเหล้าเตรียมงัด “มิวสิก มาร์เก็ตติ้ง” ตีตลาดดึงนักดื่มหน้าใหม่...           

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่โรงแรมเคยูโฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  องค์กรเครือข่ายเยาวชนกว่า 10 องค์กร ประชุมด่วนเพื่อออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องออกมารับผิดชอบ จากกรณีกลุ่มวัยรุ่น ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ระหว่างการจัดงานคอนเสิร์ตเรกเก้ ออน เดอะ ร็อก ครั้งที่ 3 บริเวณริมทะเล ชายหาดชะอำฝั่งเหนือ จ.เพชรบุรี คอนเสิร์ตดังกล่าว เป็นการก่อความวุ่นวายของกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนมึนเมา คลองสติไม่ได้ จนเกิดการกระทบกระทั่ง ซึ่งตำรวจได้เข้าระงับเหตุควบคุมตัวผู้ก่อความไม่สงบได้  70 ราย รวมผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้เกือบ 200 ราย เสียชีวิต 1 ราย

โดยนายเกรียงไกร จั่นจุ้ย แกนนำเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กล่าวว่า ทราบมาว่าคอนเสิร์ตในครั้งนี้ มีผู้ร่วมงานนับแสนคน และในจำนวนนี้กว่า 90% เป็นกลุ่มเยาวชน และสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการละเลยต่อการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งการปล่อยให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ตลอดเวลา การขายให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 20 ปี รวมถึงการให้มีการเร่ขาย ขายโดยไม่มีใบอนุญาต ซึ่งผิดกฎหมายทั้งสิ้น เครือข่ายเยาวชนฯ มีความกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นอย่างมาก จึงขอเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด มิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซากแบบนี้อีก เพราะการบาดเจ็บล้มตายของเด็กและเยาวชน คือความเสียหายต่ออนาคตชาติ โดยขอเสนอให้ 1.ผู้จัดงานและผู้อนุญาตให้ใช้สถานที่จัดต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบ ต่อกรณีที่เกิดขึ้นด้วย มิใช่ลอยตัวเหนือปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากแบบนี้ 2.ขอให้รัฐบาลเร่งตรวจสอบการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดว่า  ได้มีมาตรการที่เข้มข้น ในการป้องปรามเหตุร้ายดังกล่าวมากน้อยเพียงใด และหากพบว่าละเลย ขอให้มีการดำเนินการตามกฎหมายฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 3.ขอให้เยาวชนทั่วประเทศต่อต้าน และหยุดสนับสนุนการจัดคอนเสิร์ต ที่ไม่มีการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงาน หรือบริเวณรอบงาน และ 4. ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกฎหมายที่มีอยู่มาบังคับใช้ และป้องปรามอย่างจริงจัง มากกว่าการปล่อยให้เกิดเหตุแล้วแล้วไม่สามารถทำอะไรได้  เช่น พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ร.บ.สุรา  เป็นต้น               

“จากเหตุการณ์ครั้งนี้ มีเยาวชนจำนวนมากที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จนต้องถูกดำเนินคดีข้อหาเมาสุรา ดังนั้น หากยังมีผู้ที่ยังจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่แบบนี้ คิดว่าปัญหาการทะเลาะวิวาท เสียชีวิต บาดเจ็บ คงเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการจัดคอนเสิร์ตแน่นอน” แกนนำเครือข่ายเยาวชน กล่าว               

ด้าน ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า คาดการณ์ว่าช่วงนี้จนถึงปลายปี 2554 จะมีการจัดคอนเสิร์ตในลักษณะ “มิวสิก มาร์เก็ตติ้ง” (Music marketing) ที่บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใช้เป็นเครื่องมือในการพยายามขยายตลาด โดยเจาะกลุ่มนักดื่มที่เป็นเยาวชน สังเกตว่างานคอนเสิร์ตแต่ละครั้ง ทำให้ผู้ประกอบการร้านค้าเปลี่ยนการขายสินค้าอื่นๆ ไปเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แทน เนื่องจากมีรายได้เป็นจำนวนมาก ส่วนการที่มีคนออกมาระบุว่า การจัดคอนเสิร์ตครั้งนี้ ทำให้มีเงินสะพัดกว่า 100 ล้านบาท ตนอยากถามว่าคุ้มค่าหรือไม่ กับการที่เยาวชนต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บอีกจำนวนมาก เพราะความสูญเสียครั้งนี้ คงเอามาประเมินค่าไม่ได้ และกรณีนี้แม้จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 500 นาย แต่ก็ไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ได้ เพราะต้นเหตุทั้งหมดล้วนเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์แทบทั้งสิ้น ขณะที่บริเวณร้านค้ารอบงานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถือว่าผิดกฎหมายเข้าข่ายการขายเร่หรือไม่

...