องคมนตรี เผย “ในหลวง” ทรงห่วงภาษาถิ่น ต้องรักษาไว้ให้ดี ด้าน “ชวน หลีกภัย” แฉ ร.ร.ห้ามเด็กพูดภาษาถิ่น จวกรายการทีวี สถานีโทรทัศน์ที่ตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษ ขณะที่ราชบัณฑิต เตรียมหาทางแก้ไขการใช้คำทับศัพท์ในคาราโอเกะ ...
เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ราชบัณฑิตยสถาน สนามเสือป่า มีการจัดงาน “วันภาษาไทยแห่งชาติ 29 กรกฎาคม 2554” โดยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดงานว่า การปลุกจิตสำนึกและกระตุ้นคนไทยให้ตระหนักในคุณค่าและเห็นความสำคัญของภาษาไทยมีความชัดเจน ตั้งแต่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปร่วมประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อปี 2505 และได้พระราชทานกระแสพระราชดำริหลายประการเกี่ยวกับปัญหาการใช้ภาษาไทย ทำให้วงการศึกษาโดยเฉพาะด้านภาษาไทย พยายามกระตุ้นให้คนในชาติตระหนักให้ความสำคัญกับภาษาไทยและช่วยกันบำรุงรักษาให้วัฒนาถาวรทันยุคสมัยที่เทคโนโลยี เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังทรงห่วงใยเรื่องภาษาถิ่น โดยมีพระราชดำรัสว่าต้องระวังรักษาไว้ให้ดี เพราะเป็นแหล่งที่จะไปศึกษาภาษาไทยแท้ที่ไม่ถูกผสมผสานภาษาต่างประเทศ
ด้านนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนให้ความสำคัญกับภาษาไทยมาตลอดโดยเตือน ส.ส.ในพรรคทุกครั้งที่อบรมว่าให้หลีกเลี่ยงการพูดภาษาไทยคำอังกฤษคำ หรือใช้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษโดยไม่จำเป็น ซึ่งเข้าใจว่าสังคมเราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก อาจเป็นเพราะมองเรื่องความสะดวกเป็นสำคัญ เมื่อราชบัณฑิตเข้ามามีบทบาทในเชิงรุกก็ขอให้รุกจริง โดยฝากราชบัณฑิตให้เตือนสื่อ ทั้งเรื่องการตั้งชื่อสถานีเป็นภาษาอังกฤษ และตั้งชื่อรายการเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นการมองด้านการตลาดและผลกำไรทางธุรกิจ ไม่ได้มองอุดมการณ์ จนกลายเป็นธุรกิจการเมืองและธุรกิจสื่อมวลชน ส่งผลให้ความถูกต้องชอบธรรมลดความสำคัญลง ราชบัณฑิตควรเชิญเจ้าของสื่อหรือเจ้าของรายการมาหารือเพื่อขอความร่วมมือในการเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาไทยด้วย ซึ่งอีกปัญหาหนึ่งที่น่าห่วงคือ เรื่องภาษาถิ่นที่ในช่วง 20-30 ปี มีการจางหายไปเร็วกว่าที่คิด สาเหตุหนึ่งมาจากโรงเรียนห้ามเด็กพูด จึงอยากให้ราชบัณฑิตช่วยคิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ภาษาถิ่นเลือนหาย รวมถึงเรื่องการใช้ ค.ศ.แทน พ.ศ. ซึ่งสื่อยุคนี้ใช้กันจนเคยชิน
ขณะที่นางกาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต และนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย กล่าวบนเวทีสัมมนาในงานเดียวกันว่า ทางราชบัณฑิตเตรียมที่จะเข้าไปดูการใช้ภาษาไทยในคาราโอเกะ โดยเฉพาะการใช้คำทับศัพท์ในเพลงไทยที่มีการใช้คำทับศัพท์เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้ชาวต่างชาติสามารถร้องเพลงไทยได้ซึ่งพบว่ามีความผิดเพี้ยน และไม่มีแบบแผน เช่น คำว่า “วัน” พอเป็นคำทับศัพท์ในภาษาอังกฤษ มีทั้งใช้คำว่า one และ wan หรือบางทีก็มีคำว่า van ดังนั้น ทางราชบัณฑิตย จึงจะเข้าไปดูเพื่อกำหนดรูปแบบให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้จะรวมไปถึงคำภาษาไทยในคาราโอเกะที่มีการตัดคำเพื่อให้เข้ากับทำนอง เพลง แต่พออ่านแล้วกลับไม่มีความหมายด้วย.
...