10 ประเทศอาเซียน ดันออกใบรับรองการส่งออกไม้ เพื่อรักษาพื้นที่ป่า ไทยชู "ป่าชุมชน" หวังบริหารจัดการป่าไม้ไว้ให้ได้ พร้อมทั้งใช้ประโยชน์จากป่า โดยเฉพาะเรื่องยาสมุนไพรรักษาโรค...
เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ จ.เชียงใหม่ มีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านป่าไม้ ครั้งที่ 14 ประเทศไทย โดยกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นเจ้าภาพจัดประชุมโดยมี 10 ประเทศสมาชิก อาทิ เวียดนาม ลาว พม่า มาเลเชีย อินโดนีเชีย ฟิลิปินส์ บรูไน เป็นต้น เข้าร่วม โดยนายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการหารือและเน้นใน 2 ประเด็น คือ สิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ กับเรื่องทรัพยากรป่าไม้ที่ส่งผลต่อการกินดีอยู่ดีของชุมชนและประชาชน ตลอดจน การนำผลิตจากป่าไม้มาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เพราะกลุ่มประเทศอาเซียนได้ตระหนักถึงปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการทำเกษตรกรรม และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พื้นที่ป่าไม้ที่หายไปจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในอินโดนีเชีย มาเลเชีย พม่า ตัดป่าเพื่อนำพื้นที่ไปปลูกพืชพลังงาน ที่ประชุมจึงพยายามหาทางออกเพื่อรักษาป่า เช่น เสนอให้มีการแบ่งโซนสำหรับพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ทำการเกษตรและให้เน้นทำการเกษตรในพื้นที่ราบให้มากขึ้น โดยประเทศไทยได้เสนอเรื่องของป่าชุมชน ที่สามารถบริหารจัดการรักษาป่าไม้ไว้ได้ และในขณะเดียวกันชุมชน ก็ได้ใช้ประโยชน์จากป่าทั้งผลผลิตที่กินได้ และสมุนไพรที่ใช้รักษาโรค ซึ่งสามารถนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนได้ เป็นต้น
"หนึ่งในประเด็นสำคัญที่กลุ่มอาเซียน กำลังผลักดันคือการใช้บังคับใช้กฎหมายป่าไม้และธรรมาภิบาล ซึ่งขณะนี้ทางกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) จะใช้เป็นข้อบังคับให้การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ทุกประเภทต้องออกใบรับรองในปี 2556 เพื่อระบุถึงแหล่งกำเนิดไม้ ว่าไม่ได้ตัดจากป่าธรรมชาติ ดังนั้น ที่ประชุมอาเซียนจึงต้องการให้ชาติสมาชิก ต้องร่วมมืออันอย่างจริงจัง เพราะสามารถลดการตัดไม้จากป่าธรรมชาติ” นายสุวิทย์ กล่าว
อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้คณะทำงานด้านพืชสมุนไพรของอาเซียน ยังได้มีข้อตกลงที่จะร่วมมือในการพัฒนางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพืชสมุนไพร 3-4 ประเด็น โดยเฉพาะสมุนไพรที่นำมาใช้รักษาโรคเบาหวาน และคลอเรสเตอรอลสูง ซึ่งเป็นปัญหาของประชากรทั่วโลก และยังมีผลกระทบไปสู่การเกิดโรคอื่นๆ เช่น ไต หัวใจ และตับ เป็นต้น ทั้งนี้จะมีการจะรวบรวมผลงานวิจัย และพัฒนาสมุนไพรที่มีศักยภาพ เพื่อนำมาใช้รักษาโรคดังกล่าว รวมทั้งควบคุมภาพวัตถุดิบของสมุนไพร ในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปในแนวทางขององค์การอนามัยโลก และจะรวบรวมเป็นฐานข้อมูลระหว่างประเทศ ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในปี 2556 และอยู่ภายใต้การพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินการของอาเซียนที่เกี่ยวกับพืชสมุนไพร ระหว่างปี 2554 – 2558
อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า กลุ่มอาเซียนยังเตรียมหารือในมาตรการด้านป่าไม้ ในเวทีการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 17 ที่ประเทศแอฟริกา โดยเฉพาะกรณีการส่งเสริมกิจกรรมการปลูกป่า (เรดด์พลัส) ซึ่งจะนำเข้าพิจารณาในการประชุมโลกร้อนครั้งนี้ อาเซียนยังเห็นว่ากรอบเงื่อนไขของเรดส์พลัส จะเน้นการปลูกป่าของเอกชนเป็นหลัก ขณะที่ป่าปลูกในเขตป่าอนุรักษ์และอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐจะยังไม่เข้าเงื่อนไข ดังนั้นอาจไม่เกิดประโยชน์มากนัก เพราะการที่รัฐส่งเสริมการปลูกป่าก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในการลดการทำลายป่าเช่นกัน ทั้งนี้ที่ประชุมยังไม่บรรลุข้อตกลงนี้ และอาจต้องมีหารือกันร่วมกันอีกครั้งก่อนการประชุมโลกร้อนต่อไป
...