มติแพทยสภา "ฟ้องศาลปกครอง" ขอเพิกถอนประกาศกระทรวงว่าด้วยสิทธิการตาย หวั่นกระทบสิทธิคนไข้ ตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ หมอเสี่ยงติดคุกคดีฆ่าคนตาย...
30 มิ.ย. จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ออกประกาศกระทรวง ทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 12 แห่งพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้ก่อให้เกิดฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าจะขัดจรรยาบรรณทางการแพทย์ และอาจถูกฟ้องร้องนั้น ขณะที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งคณะทำงานการดำเนินการตามหนังสือดังกล่าว เพื่อศึกษาแนวทางการทำงานเฉพาะสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเหมาะสม
ล่าสุดที่สำนักงานแพทยสภา ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา แถลงข่าวหลังการประชุมกรรมการบริหารถึงกรณี “สิทธิการตาย (มาตรา 12)” ว่า เรื่องนี้มีความเห็นที่หลากหลาย ทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการสาธารณสุขได้จัดสัมมนาระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้ข้อสรุปให้แพทยสภา ซึ่งเป็นตัวแทนวิชาชีพแพทย์ ทำหน้าที่ดำเนินการหาความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เนื่องจากมีแพทย์หลายฝ่ายกังวลถึงการบังคับใช้แนวทางการแสดงสิทธิดังกล่าว เพราะอาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย และยังขัดต่อจริยธรรมแพทย์ ที่สำคัญกฎกระทรวงดังกล่าวยังออกเกินกว่าเจตนารมณ์ของมาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯที่กำหนด
"เมื่อคณะกรรมาธิการสาธารณสุขมีความประสงค์ต้องการความชัดเจนจากการประชุมของกรรมการบริหาร จึงมีความเห็นว่าจะนำเรื่องดังกล่าว เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภาในวันที่ 14 ก.ค.54 เพื่อพิจารณาถึงการเคลื่อนไหว ซึ่งเบื้องต้นอาจดำเนินการฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนกฎกระทรวงดังกล่าว ระหว่างรอการพิจารณา แพทยสภาจึงออกแนวทางปฏิบัติของแพทย์ เมื่อได้รับหนังสือดังกล่าว ประกอบด้วย 6 แนวทางคือ 1. เมื่อได้รับหนังสือแสดงเจตนาฯ แพทย์ผู้เกี่ยวข้องต้องแน่ใจว่าหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือแสดงเจตนาฯที่กระทำโดยผู้ป่วยขณะที่มีสติสัมปชัญญะ เช่น หนังสือแสดงเจตนาฯที่กระทำโดยอยู่ในความรู้เห็นของแพทย์ เช่นนี้แล้วให้ปฏิบัติตามความประสงค์ของผู้ป่วย ยกเว้นกรณีตามข้อ 5, 2.หนังสือแสดงเจตนาฯ นอกเหนือจากข้อ 1 ควรได้รับการพิสูจน์ว่ากระทำโดยผู้ป่วยจริง, 3.ในกรณีที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ถึง “ความจริงแท้” ของหนังสือแสดงเจตนาฯนี้ ให้ดำเนินการรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานวิชาชีพเวชกรรม, 4.การวินิจฉัยวาระสุดท้ายของชีวิตให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ในภาวะวิสัยและพฤติการณ์ในขณะนั้น, 5.ไม่แนะนำให้มีการถอดถอน ( withdraw ) การรักษาที่ได้ดำเนินอยู่ก่อนแล้ว และ 6.ในกรณีที่มีความขัดแย้งกับญาติผู้ป่วยเกี่ยวกับเรื่อง “ความจริงแท้” ของหนังสือแสดงเจตนาฯดังกล่าว แนะนำให้ญาติผู้ป่วยใช้สิทธิทางศาล" นายก แพทยสภา กล่าว
ด้านนพ.วิสุทธิ์ ลัจเสวี ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า กฎกระทรวงดังกล่าวออกเกินกว่าอำนาจมาตรา 12 ที่ระบุเพียงให้บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนา แต่ในกฎกระทรวงยังมีบทบัญญัติที่ไปละเมิดสิทธิของบุคลากรทางการแพทย์ เช่น หากผู้ป่วยขอกลับบ้าน แพทย์ต้องอนุญาต หรือสตรีมีครรภ์ต้องยุติการตั้งครรภ์ก่อน จึงจะทำตามหนังสือแสดงเจตนา สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการผิดหลักจริยธรรมทางการแพทย์ หากแพทย์ดำเนินการตาม อาจถูกฟ้องร้อง และนำไปสู่การฆ่าโดยเจตนาก็เป็นได้ ซึ่งจะเป็นการผิดกฎหมายอาญาทันที จึงควรมีความชัดเจน โดยต้องระงับการใช้กฎกระทรวงดังกล่าวก่อน เพื่อหาข้อสรุปซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
ขณะที่ศ.นพ.วิรัติ พาณิชย์พงษ์ ส.ว. และรองประธานกรรมาธิการสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ต้องระวังคือการพิจารณาถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เนื่องจากหากญาติไม่เข้าใจ จะนำปัญหามาสู่แพทย์ และเกิดเป็นประเด็นฟ้องร้องได้ ขณะเดียวกันการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ อาจส่งผลเสียต่อผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง เนื่องจากการแสดงเจตนาดังกล่าว ถือเป็นการเสียสิทธิในการรับเงินค่าชดเชยตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ทำให้ไม่สามารถรับเงินกรณีเกิดความเสียหายจากการรักษาจำนวน 2 แสนบาททันที อีกทั้งกรณีผู้ทำประกันชีวิตอาจไม่ได้รับเบี้ยประกัน เนื่องจากอาจเข้าข่ายการฆ่าตัวตาย สิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิที่ผู้ป่วยอาจเสียไปด้วย ในส่วนผลกระทบทางการแพทย์ หากแพทย์ไม่รู้กฎหมายและไปดำเนินการ จะถูกข้อหาเจตนาฆ่า ซึ่งมีความผิดประหารชีวิต สิ่งเหล่านี้เป็นช่องโหว่ทางกฎหมาย เพราะเมื่อทำตามกฎหมายหนึ่ง ก็อาจไปก้าวล่วงกฎหมายหนึ่ง
...