รศ.ดร.อรวรรณ ชัยลภากุล
การตรวจสอบหาสิ่งปนเปื้อน สารตกค้าง ทั้งในพืช น้ำ อากาศนั้น ต้องใช้เครื่องมือที่มีความแม่นยำรู้ผลเร็ว โดยที่ผ่านมาเราต้องสั่งนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง
ฉะนี้...รศ.ดร.อรวรรณ ชัยลภากุล อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงวิจัย "พัฒนาเทคนิคการคัดกรอง และการวิเคราะห์แบบรู้ผลเร็ว" ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง โดย สำนักงานคณะ กรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนทุน
ดร.อรวรรณ เปิดเผยว่า การนำสมุนไพรเพื่อใช้เป็นยารักษาโรคต่างๆนั้น กว่าจะถึงผู้ป่วยต้องใช้ระยะเวลาค้นคว้าวิจัยด้านคุณสมบัติ ขั้นตอน "การตรวจสอบคัดกรองสารออกฤทธิ์" ของสารในพืชชนิดนั้นๆ เพื่อให้การรักษาเป็นไปตามเป้าหมายอย่างชัดเจนแน่นอน ป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงตามมา ทีมวิจัยจึึงได้นำชุดอุปกรณ์ "ต้นแบบ" มาพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อใช้ตรวจสอบคัดกรองสารออกฤทธิ์ในกลุ่ม "สารต้านอนุมูลอิสระ" พืชสมุนไพรไทย ซึ่งเป็นประโยชน์ในด้านการศึกษาค้นหายาตัวใหม่ และพัฒนาวิธีการวิเคราะห์ สมุนไพรหลายตัวอย่างที่สามารถรู้ผลได้เร็ว

...
"...ชุดอุปกรณ์ต้นแบบ เป็นแผนงานวิจัยพัฒนาเทคนิคการคัดกรอง (High throughput screening, HTS) และการวิเคราะห์แบบรู้ผลเร็ว (High throughput analysis, HTA) เป็นการพัฒนาเทคนิค เครื่องมือและวิเคราะห์หาสารตกค้างที่มีความสะดวกต่อการนำไปใช้ อีกทั้งยังเหมาะที่จะนำไปใช้เฝ้าระวังตรวจหาการปนเปื้อน สารมลพิษ หรือกัมมันตรังสีในอาหารและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลายคนทั่วโลกหวั่นเกรงอยู่ในขณะนี้..."
สำหรับขั้นตอนการวิจัย จากเดิมที่ทีมงานได้นำผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (โครงการวิจัยปีแรก) มาพัฒนาต่อเนื่องเป็นระบบวิเคราะห์ ในรูปของอุปกรณ์ "ต้นแบบ" (Multi-optical sensor) แล้วนำมาประเมินคุณสมบัติการต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากพืชสมุนไพรไทย ชนิด Phenothiazine radical cation (PHTH*+) มาสร้างระบบตรวจวัดแบบอัตโนมัติ ที่อุปกรณ์ประกอบด้วยจานหลุม 12 แถว แถวละ 8 หลุม ซึ่งหาได้ง่ายในบ้านเรา จากนั้นทำการตรวจวัดไปพร้อมกัน


เพื่อให้ผลที่ได้มีความแน่นอน ชัดเจนการวิเคราะห์ หากเป็นกลุ่มตัวอย่างผลไม้ สารสกัดจากพืชและผัก ยาเม็ด ชาสมุนไพร และโลหะหนัก อย่างตะกั่วและแคดเมียมที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม จะใช้การใช้วิเคราะห์เคมีไฟฟ้าแบบอัตโนมัติด้วย "ระบบการอ่านผลแบบขนาน" (Total antioxidant capacity)
...หรือถ้ากลุ่มตัวอย่างเป็นการวิธีวิเคราะห์ เพื่อหาไอออนเหล็กในน้ำผลไม้ และวิเคราะห์โลหะหนักในตัวอย่างทางชีวภาพ จะใช้ วิธีการเตรียมตัวอย่างแบบ "ออนไลน์" ด้วยอุปกรณ์แยก "เมมเบรน" ชนิดเส้นใยกลวง ร่วมกับระบบวิเคราะห์แบบไหล ที่สามารถแยกสารที่ต้องการออกจากองค์ประกอบตัวอย่างที่ซับซ้อน ได้ง่าย รวดเร็ว
ดร.อรวรรณกล่าวต่อว่า...ถ้าต้องการหาปริมาณฟอสเฟตในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อตรวจสอบคุณภาพ จะใช้เทคนิค วิธีตรวจวัดปริมาณฟอสเฟต แบบอัตโนมัติ ที่พัฒนามาจากระบบ "ฟอสเฟตอนาไลเซอร์" ทั้งนี้ การวิเคราะห์ทั้ง 3 วิธี เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับการใช้เครื่องมือที่สั่งนำเข้าจากต่างประเทศ พบว่าผลที่ได้มีความแม่นยำและคุณภาพไม่แตกต่างกัน

เพื่อให้เกิดประโยชน์ที่คุ้มค่า ในด้านการพัฒนาสมุนไพรไทยเพื่อนำมาใช้เป็นยารักษา ทีมวิจัยยังได้พัฒนาชุดอุปกรณ์ตรวจสอบดังกล่าวให้สามารถใช้คัดกรอง ตรวจสอบหาสารในสมุนไพรกลุ่มที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่สูง ด้วยวิธี "ตรวจวัดทางเคมี ไฟฟ้า" ที่อาศัยความสามารถในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ (Xanthine oxidase) ต้นเหตุของการเกิด "กรดยูริก"
โดยชุดตรวจสอบดังกล่าวจะใช้กระดาษกรอง สารชนิดที่มีคุณสมบัติไม่ชอบน้ำ (Hydrophobic) นำมาเคลือบบนกระดาษที่ออกแบบให้เป็นหลุม สำหรับใส่สารเคมีที่จำเพาะ/ตัวอย่างที่ต้องการ ที่นอกจากจะรู้ผลรวดเร็ว ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย ทั้งในอุตสาหกรรมยา การแพทย์ และสามารถใช้ในพื้นที่ห่างไกล.
...
เพ็ญพิชญา เตียว