ขอบคุณภาพจาก "ดุสิตโพสต์" และ http://www.oknation.net/

จับตารอยเลื่อนแม่จันในไทย ห่างรอยเลื่อนน้ำมา ต้นเหตุแผ่นดินไหวพม่าแค่ 50 กิโลเมตร นักวิชาการพบรอยเลื่อนมีพลังใหม่คือ "รอยเลื่อนนครนายก" เขย่าขวัญคนกรุงเทพฯ...

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. นายปัญญา จารุศิริ หัวหน้าภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยที่รอยเลื่อนปัว อ.เวียงสา จ.น่าน ขนาด 4 ริคเตอร์ รอยเลื่อนแม่จัน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ขนาด 3 ริคเตอร์และรอยเลื่อนแม่จัน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ขนาด 3.4 ริคเตอร์ ว่า ขณะนี้ประเทศไทยควรจับตารอยเลื่อนแม่จัน ซึ่งอยู่ห่างจากรอยเลื่อนน้ำมา ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศพม่าที่ผ่านมา ประมาณ 50 กิโลเมตร หากรอยเลื่อนแม่จันเกิดแผ่นดินไหว จะกระทบต่อจังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงใหม่ เชียงราย ส่วนความรุนแรงขึ้นอยู่กับความตื้นลึกของแรงสั่นสะเทือนในแผ่นดิน นอกจากนี้ ยังต้องจับตารอยเลื่อนศรีสวัสด์ จ.กาญจนบุรี และรอยเลื่อนปัว จ.น่าน ทั้งนี้ จากการดูภาพถ่ายดาวเทียมของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่ารอยเลื่อนดังกล่าว มีความคมชัด ไม่น่าไว้วางใจ

นายปัญญา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้พบรอยเลื่อนใหม่ คือ รอยเลื่อนนครนายก ซึ่งมีความน่ากลัวและอยู่ไม่ห่างจากรุงเทพฯ จากภาพถ่ายดาวเทียมพบว่า รอยเลื่อนนครนายก มีความสัมพันธ์กับรอยเลื่อนแม่ปิง ที่พาดผ่าน จ.นครสวรรค์ กำแพงเพชร ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือถึงตะวันออกเฉียงใต้ โดยแนวดังกล่าวมีความยาว 50-100 กิโลเมตร โดยรอยเลื่อนแม่ปิง เคยเกิดแผ่นดินไหวมาแล้วเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2518 ขนาด 5.6 ริคเตอร์ ที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ถ้ารอยเลื่อนนครนายก เกิดแผ่นดินไหวขึ้นมา จะกระทบกับภาคกลางทั้งหมด อาทิ กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี อุทัยธานี ลพบุรี เป็นต้น โดยจะนำข้อมูลรอยเลื่อนนครนายกเสนอกระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อให้เข้าไปสำรวจและเพิ่มแนวรอยเลื่อนที่มีพลังของประเทศไทย เป็น 14 จุด จากเดิมมี 13 จุด ทั้งนี้ 13 รอยเลื่อนที่มีพลังในประเทศไทย หากเกิดแผ่นดินไหว จะเกิดประมาณ 6 – 7 ริคเตอร์ และเมื่อเปรียบเทียบกับอดีตเมื่อพันปีที่ผ่านมา ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศไทย จะเกิดความเสียหายต่อระบบโครงสร้างสาธารณูปโภค เช่น เจดีย์หัก โรงพยาบาลร้าว วัดเสียหาย อาคารร้าว ทั้งนี้ จะต้องเกิดแผ่นดินไหวเป็นระยะเวลาพอสมควรหรือมีอาฟเตอร์ช็อคต่อเนื่อง

ทั้งนี้ 13 รอยเลื่อนที่มีพลังในประเทศไทย ครอบคลุม 22 จังหวัด ที่ต้องเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ได้แก่ เชียงใหม่ 12 อำเภอ เชียงราย 11 อำเภอ แพร่ 7 อำเภอ แม่ฮ่องสอน 5 อำเภอ กำแพงเพชร 3 อำเภอ ตาก 7 อำเภอ น่าน 6 อำเภอ พะเยา 1 อำเภอ พิษณุโลก 2 อำเภอ ลำปาง 5 อำเภอ ลำพูน 3 อำเภอ อุตรดิถต์ 4 อำเภอ กระบี่ 1 อำเภอ ชุมพร 4 อำเภอ พังงา 5 อำเภอ ระนอง 5 อำเภอ สุราษฎร์ธานี 9 อำเภอ กาญจนบุรี 7 อำเภอ ประจวบคีรีขันธ์ 4 อำเภอ สุพรรณบุรี 1 อำเภอ นครพนม 3 อำเภอ หนองคาย 2 อำเภอ รวม 106 อำเภอ 308 ตำบล และ 1,406 หมู่บ้าน

...