รพ.ชุมชนใกล้วิกฤติขาดสภาพคล่องรุนแรงกว่า 191 แห่ง สปสช.เตรียมโอนงบอัดฉีดกว่า2หมื่นล้าน...

เมื่อวันที่ 29 ก.ย. นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขาดสภาพคล่อง จำนวน 191 แห่งจากทั้งหมดกว่า 800 แห่งว่า ในวันที่ 1 ต.ค.นี้คณะกรรมการร่วมสองฝ่ายระหว่าง สปสช.และสธ. จะประชุมหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องในโรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะใน 191 แห่งที่ประสบปัญหามากที่สุด ทั้งนี้ จะหารือถึงการจัดสรรเงินในแต่ละพื้นที่ว่า ควรมีการกระจายตามพื้นที่ประสบปัญหามากน้อยแค่ไหน รวมทั้งการเพิ่มวงเงินในกองทุนเงินช่วยเหลือชดเชยโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง หรือ CF ที่ สปสช.จัดสรรให้ สธ. ไปดำเนินการช่วยเหลือทุกปี ซึ่งเดิมปี 2553 จัดสรรไว้ 200 ล้านบาท แต่ขณะนี้มีการเจรจาให้เพิ่มถึง 1,000-2,000 ล้านบาท

"หากได้ข้อสรุปจะมีการเรียกประชุมหารือสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ทั่วประเทศ รวมทั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลชุมชน เพื่อชี้แจงแนวทางแก้ปัญหาในวันที่ 4-5 ต.ค.นี้ ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต สำหรับแนวทางการช่วยเหลือเบื้องต้นนั้น สปสช.จะจัดสรรเงินให้โรงพยาบาลทั่วประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิมงวดแรกในช่วงเดือน ตุลาคมจะโอนให้เพียงร้อยละ 25 จากเงินทั้งหมดที่ต้องให้ตลอดทั้งปี แต่ครั้งนี้จะเพิ่มเป็นร้อยละ 50 หรือประมาณ 20,000 กว่าล้านบาทจากทั้งหมด 40,000 กว่าล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าน่าจะช่วยบรรเทาปัญหาได้บ้างก่อนจะเพิ่มมาตรการอื่นๆต่อไป"

นพ.วินัย กล่าวว่า ปัญหาการขาดสภาพคล่องของโรงพยาบาลไม่ใช่จะแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มวงเงิน ด้านสาธารณสุขอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ด้วย ซึ่งขณะนี้ทาง สธ.ก็มีนโยบายในการดำเนินการอยู่แล้ว เรื่องนี้ต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะคงไม่สามารถช่วยเหลือได้อย่างทันทีทันใด

ผู้สื่อข่าวรายงานโดยอ้างการให้ข้อมูลของแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุขว่า ปัญหาการขาดสภาพคล่องของโรงพยาบาล สธ.เพิ่มขึ้นทุกปี โดยโรงพยาบาลสังกัด สธ.มีทั้งสิ้น 832 แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชน 737 แห่งขาดทุนร้อยละ 85 โรงพยาบาลทั่วไป 70 แห่งขาดทุนร้อยละ 10 และโรงพยาบาลศูนย์มีทั้งสิ้น 25 แห่งขาดทุนร้อยละ 5 อย่างไรก็ตาม ไตรมาส 4 ของปี 2552 พบว่า มีโรงพยาบาลกำไร 4,300 ล้านบาท แต่ขาดทุนสูงถึง 5,575 ล้านบาท โดยรวมติดลบหรือขาดทุนถึง 1,275 ล้านบาท สาเหตุมาจากหลายปัจจัยทั้งปัญหาการเงินในส่วนของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ให้ตามรายหัวจริงที่ 2,456 บาทต่อคนต่อปี แต่มีการหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ลงกว่าครึ่งหนึ่ง รวมทั้งการบริหารจัดการของโรงพยาบาล ซึ่งอาจมีการจ้างงานเพิ่มเติม หรือตั้งอยู่ในพื้นที่ประชากรเบาบาง แต่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้น ทั้งหมดล้วนเป็นปัญหาทั้งสิ้น

สำหรับโรงพยาบาลที่ประสบปัญหาในไตรมาส 2 ปี 2553 พบโรงพยาบาลที่ขาดสภาพคล่องเพิ่มขึ้นหากเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2552 ถึง 84 แห่ง โดยในไตรมาส 2 ปี 2553 พบโรงพยาบาลจำนวน 191 แห่งที่ขาดสภาพคล่องทางการเงินชนิดไม่มีเงินดั้งเดิมหรือเงินบำรุงโรงพยาบาล ไว้ใช้กรณีฉุกเฉิน ซึ่งถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤติ เนื่องจากบางแห่งถึงขั้นต้องเจรจากับพนักงานชั่วคราว เพื่อเลื่อนการจ่ายเงินเดือน รวมทั้งการจ่ายโอทีด้วย ขณะที่อีก 467 แห่งอยู่ในภาวะรายรับน้อยกว่ารายจ่าย และมีแนวโน้มจะขาดสภาพคล่องขั้นรุนแรงในอนาคต ส่วนไตรมาส 4 ปี 2552 พบโรงพยาบาลที่ขาดสภาพคล่องขั้นรุนแรง 175 แห่ง และโรงพยาบาลภาวะรายรับน้อยกว่ารายจ่าย 505 แห่ง.

...