วันเสาร์สบายๆวันนี้ไปคุยกันเรื่อง “เงินดิจิทัล” หรือ Cryptocurrency กันดีกว่านะครับ ตอนนี้เงินดิจิทัลกำลังมาแรงมาก นอกจาก Bitcoin ที่เราได้ยินบ่อยๆ ยังมีเงินดิจิทัลสกุลอื่นอีกมาก ล่าสุดมีข่าวว่า ธนาคารกลางจีน สหรัฐฯ แคนาดา เยอรมนี สิงคโปร์ ก็กำลังพัฒนาเงินดิจิทัลขึ้นมาแทนเงินกระดาษ เพื่อสร้าง “สังคมไร้เงินสด” ทดแทนการพิมพ์ธนบัตรจำนวนมหาศาลในแต่ละปี

เงินดิจิทัล เรารู้สึกว่า เพิ่งพูดกันเล่นๆ ไม่นาน แต่วันนี้ เป็นเรื่องจริง ขึ้นมาแล้ว

ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ เจ้าของเว็บไซต์ settakid เพิ่งเขียนบทความลงในไทยพับบลิก้าว่า “เงินดิจิทัล” วันนี้ได้เปลี่ยนสถานะจาก “ของเล่นเด็กเนิร์ด” เป็น “สินทรัพย์เสี่ยงสูง” ไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยความร้อนแรงของเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ทำให้มูลค่าตลาดรวมของเงินดิจิทัลเกิน 1 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 3.5 ล้านล้านบาท ไปแล้ว

แต่หลายคนยังมีคำถาม มันมีความเป็นไปได้แค่ไหน ที่เงินดิจิทัลจะมามีบทบาทกับชีวิตเราได้มากกว่าการเป็นสินทรัพย์เสี่ยงสูงสำหรับนักลงทุนที่ชื่นชอบความผาดโผน

ตั้งแต่ต้นปีมา ส่วนแบ่งตลาดของเงินดิจิทัล Bitcoin ได้ลดลงจากกว่า 80% เหลือราว 40% ทุกวันจะมีโปรเจกต์เงินสกุลดิจิทัลใหม่ๆ เกิดขึ้นมาแข่งขันเรื่อยๆ ต่างมีข้อได้เปรียบและจุดขายไม่เหมือนกัน จึงเป็นได้ว่าในที่สุด ระบบนิเวศน์ของเงินดิจิทัล จะคั้นเอา “ผู้ชนะ” ที่ มีจุดยืนชัดเจน มีเสถียรภาพ พอที่จะไปสู้กับเงินสกุลท้องถิ่นได้

...

(ราคาซื้อขายล่าสุด 1 บิตคอยน์ เท่ากับ 2,568 ดอลลาร์ และ 86,048 บาท)

ดร.ณภัทร เห็นว่า Bitcoin และผองเพื่อนเงินดิจิทัล นอกจากจะเป็นแม่แบบให้กับเงินดิจิทัลสกุลใหม่ๆแล้ว ยังเป็นต้นแบบในการออกเงินดิจิทัลของธนาคารกลางอีกด้วย โดยยกตัวอย่าง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่เริ่มศึกษา Fedcoin เพราะมองเห็นถึงความเป็นไปได้ที่เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งอยู่เบื้องหลังเงินสกุลดิจิทัลทั้งหลาย จะสามารถช่วยลดต้นทุน และเพิ่มความปลอดภัยในการก้าวไปสู่ “สังคมไร้เงินสด” หรือ Cashless Society พร้อมๆกันได้

ข้อได้เปรียบของ Fedcoin (BOTcoin ถ้าวันหนึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกเงินดิจิทัลในอนาคต) คือ ธนาคารกลางเป็นผู้ควบคุมปริมาณเงินกระดาษและเงินดิจิทัล

ดูเหมือนข้อสงสัยของ ดร.ณภัทร จะกลายเป็นความจริงขึ้นมาแล้ว เมื่อสำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ธนาคารกลางจีน กำลังซุ่มเงียบพัฒนาเงินดิจิทัลสกุลหยวน มาตั้งแต่ปี 2014 แต่เงินดิจิทัลของแบงก์ชาติจีนแทบไม่มีอะไรแตกต่างไปจากระบบเพย์เมนต์ของ อาลีเพย์ และ วีแชต เลยผู้ขายสินค้าและบริการ รับเงินจากผู้ซื้อโดยตรง และตัดคนกลางออกไป เมื่อแบงก์ชาติจีนประกาศใช้เงินดิจิทัลแล้ว ก็จะห้ามเงินดิจิทัลสกุลอื่นของบริษัทเอกชนที่แบงก์ชาติจีนคุมไม่ได้ออกไป

วันก่อนแบงก์ชาติจีนก็เพิ่งห้ามถอนเงินดิจิทัลบิทคอยน์ เพื่อชะลอเงินทุนไหลออกนอก

เดือนมกราคมปีที่แล้ว แบงก์ชาติจีน ประกาศว่า จะมีเงินดิจิทัลของตัวเองในไม่ช้านี้ แต่ยังไม่ประกาศเป็นทางการ แต่จากรายงานของทีมวิจัยจีนระบุถึงหน้าตาของเงินดิจิทัลจีนว่า ธนาคารกลางจีน จะเป็นผู้สร้างเงินดิจิทัลขึ้นมา แล้วโอนไปให้ ธนาคารพาณิชย์ ประชาชนก็ไปเติมเงินดิจิทัลจากเครื่องเอทีเอ็มของธนาคารเข้าไปใน กระเป๋า รหัส โทรศัพท์มือถือ หรือ อุปกรณ์อื่นๆ แล้วนำไปซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าที่มีระบบรับเงินดิจิทัล ร้านค้าก็โอนเงินดิจิทัลไปฝากกับธนาคารอีกทอด ทำให้แบงก์ชาติจีนไม่ต้องพิมพ์ธนบัตรจำนวนมหาศาลสำหรับประชากร 1,400 ล้านคน

เมื่อ แบงก์ชาติจีน ทำตัวเป็น peer-to-peer เสียเอง โดย “ตัดคนกลาง” ออกไปจากระบบการเงินในอนาคต ธนาคารพาณิชย์ ระบบจ่ายเงินต่างๆ เช่น อาลีเพย์ วีแชต ก็อาจจะต้องล้มหายตายจากไป เป็นการ “ปฏิวัติการเงินโลก” ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

ด้วยระบบนี้ แบงก์ชาติจีน จะสามารถ เห็นการเคลื่อนไหวของเงินทุกเม็ดได้ทั่วประเทศแบบเรียลไทม์ และ ความเป็นส่วนตัวของประชาชน ก็จะหายไปโดยสิ้นเชิง ซื้อไอติมแท่งเดียวรัฐบาลก็รู้ เป็นโลกอนาคตที่น่ากลัวนะครับ เหมือนในหนังยังไงยังงั้น.

“ลม เปลี่ยนทิศ”