รุกกำหนดกรอบโครงการก่อนทำ ก.ม. ผุดกองทุนช่วยผู้ขาดทุนทรัพย์
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมหารือการขอ ยกเว้นภาษีเงินได้การบริจาคให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยมีนายอานุภาพ จามิกรณ์ ที่ปรึกษา รมว.คลัง นายประภาศ คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง และนางแพตริเซีย มงคลวนิช รองอธิบดีกรมสรรพากร พร้อมทั้งคณะทำงานสานพลังประชารัฐด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ (E2) และด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ (E5) ร่วมประชุมว่า ได้หารือการลดหย่อนภาษีให้ภาคเอกชนที่ร่วมประชารัฐ ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าบริษัทที่มีกำไรเท่านั้นถึงจะหักภาษีได้ แต่บริษัทใหญ่ๆที่ร่วมประชารัฐยังขาดทุนอยู่ซึ่งไม่เข้าข่าย จึงหารือว่าจะหาทางดูแลอย่างไร โดยทำแล้วถูกกฎหมายด้วย
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัด ศธ.กล่าวว่า ที่ผ่านมามีเอกชนร่วมประชารัฐในกลุ่ม E2 และ E5 จำนวนมาก แต่มีปัญหาที่อยากให้ ศธ.ช่วยเหลือใน 3 เรื่องคือ 1.การลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายทั่วไป อาทิค่าอบรมครู การจ้างครูช่วยสอน 2.ค่าใช้จ่ายที่บริษัทนำเงินมาลงกองกลาง อาทิ ค่ารีแบรนดิ้งของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 3.ค่าลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การเดินสายอินเตอร์เน็ตกลาง ซึ่งไม่สามารถขอหักภาษีได้เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่าจะต้องบริจาคเท่านั้น หลังหารือที่ประชุมสรุปว่าการดำเนินการจะยึดหลักทางภาษีอากรตามประมวลกฎหมายรัษฎากร แต่จะไปศึกษาว่าสามารถปรับปรุงอะไรได้บ้าง ซึ่งปัจจุบันมีการลดหย่อนภาษี 200% ได้ 10% ของกำไรสุทธิ และหักได้อีก 2% แต่ไม่ใช่ 2 เท่า หลัง หารือกระทรวงการคลังเห็นว่าอาจจะขยายการลดหย่อนภาษีให้อีกไม่เกิน 5% ของกำไรสุทธิ รวมแล้ว 17% แต่ต้องเป็นสถานประกอบการที่มีกำไรเท่านั้น ส่วนที่ยังไม่มีกำไรแต่มาช่วยรัฐจะหารือว่าจะช่วยเหลืออย่างไร
...
“การลดหย่อนภาษีเพิ่มอีก 5% ต้องกำหนดกรอบว่ามีโครงการอะไรบ้าง จากนั้นคลังจะไปทำกฎหมายลำดับรองของประมวลกฎหมายรัษฎากรเพื่อรองรับใช้เวลา 4-5 เดือน ส่วนการบริจาคเงินเข้ากองทุนนั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 54 ให้จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและพัฒนาครู โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณแก่กองทุนหรือใช้มาตรการทางภาษีรวมทั้งให้ผู้บริจาคได้รับประโยชน์ลดหย่อนภาษีด้วย กฎหมาย นี้จะต้องออกมาภายใน 1 ปี ดังนั้นจะอาศัยจุดนี้ปิดช่องโหว่ให้กับการบริจาคกองทุน” ปลัด ศธ.กล่าว.