การตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ของ ซาอุดีอาระเบีย, ยูเออี, อียิปต์ และบาห์เรน เริ่มส่งผลกระทบแล้ว โดยสายการบินหลายเจ้าในยูเออีประกาศระงับเที่ยวบินไปกาตาร์ตั้งแต่6มิ.ย.นี้เป็นต้นไป...
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า การตัดสัมพันธ์ทางการทูตรวมทั้งตัดการติดต่อทางบก, ทางน้ำ และทางอากาศกับประเทศกาตาร์ ของประเทศซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี), อียิปต์ และบาห์เรน เริ่มส่งผลกระทบแล้ว โดยสายการบินใหญ่ในยูเออีหลายเจ้า เริ่มประกาศระงับเที่ยวบินไปกาตาร์แล้ว
สายการบิน เอมิเรตส์, เอติฮัด แอร์เวย์ส และ ฟลายดูไบ ประกาศในวันจันทร์ว่า พวกเขาจะระงับเที่ยวบินทั้งขาไปและขากลับจากกรุงโดฮาของกาตาร์ตั้งแต่เช้าวันอังคารที่ 6 มิ.ย. เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง โดยพวกเขาจะคืนเงินค่าตั๋วโดยสารที่ยังไม่ได้ใช้ทั้งหมดให้แก่ลูกค้าด้วย
ความเคลื่อนไหวล่าสุดเกิดขึ้นหลังจาก ซาอุดีอาระเบีย, ยูเออี, อียิปต์ และบาห์เรน ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตรวมทั้งปิดกั้นการติดต่อทั้งทางบก, ทางทะเล และทางอากาศทั้งหมดกับประเทศกาตาร์เมื่อช่วงเช้าวันจันทร์ (5 มิ.ย.) โดยกล่าวหารัฐบาลโดฮาว่าให้การสนับสนุนกับการก่อการร้าย รวมทั้งเข้าไปยุ่งในกิจการภายในของบาห์เรน
คาดว่าชนวนเหตุของเรื่องนี้มาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพ.ค. ซึ่งกาตาร์อ้างว่า กลุ่มแฮกเกอร์เจาะระบบของสำนักข่าวของรัฐบาล เผยแพร่ข้อความปลอมเกี่ยวกับอิหร่านและอิสราเอล และอ้างว่าเป็นคำพูดของเจ้าผู้ครองนคร (emir) ซึ่งไม่เป็นความจริง แต่เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจต่อชาติอาหรับที่เป็นเพื่อนบ้านอย่างมาก
หลังทั้ง 4 ชาติอาหรับมีคำสั่งดังกล่าวออกมา กระทรวงกิจการต่างประเทศของกาตาร์ก็ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ชี้ว่าเป็นการตัดสินใจอย่างไม่เป็นธรรมโดยใช้เหตุผลจากข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูล กาตาร์ยืนยันด้วยว่า พวกเขาปฏิบัติตามกฎบัตรของสภาความร่วมมือชาติอ่าวอาหรับ (จีซีซี) ไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น และทำหน้าที่ของตัวเองในการต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรง
...
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายคนได้ออกมาคาดการณ์ผลกระทบจากการตัดสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 4 ชาติอาหรับและกาตาร์ โดยนาย มูฮัมหมัด ไลลา ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นในกรุงอาบูดาบี ระบุว่า ความเคลื่อนไหวนี้จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงทั้งต่อการบิน, การทูต และความร่วมมือทางทหาร
ส่วนนาย อาเดล อับเดล กาฟาร์ จากสถาบันบรูกกิง (Brookings Institution) กลุ่มนักวิจัยด้านเศรษฐกิจ, การเมือง และนโยบายต่างประเทศ สาขากรุงโดฮา กล่าวว่า เรื่องนี้จะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของกาตาร์ เพราะกาตาร์พึ่งพาการนำเข้าอาหารจากซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์นม, สัตว์ปีก ซึ่งขนส่งมาทั้งทางบกและทางอากาศ
นอกจากนี้ อาจจะส่งผลต่อปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ด้วย เพราะกาตาร์เป็นที่ตั้งฐานทัพสหรัฐฯ ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ มีทหารอยู่ที่ฐานทัพอากาศ อัล-อูเดอิด ถึง 11,000 นาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง