ประเทศซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, อียิปต์ และบาห์เรน ประกาศตัดความสัมพันธ์กับประเทศกาตาร์ตามๆ กันในวันจันทร์ โดยอ้างเหตุผลว่า รัฐบาลโดฮาให้การสนับสนุนผู้ก่อการร้าย...

สำนักข่าวจากต่างประเทศรายงานว่า ประเทศซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี), อียิปต์ และบาห์เรน ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูต รวมทั้งปิดกั้นการติดต่อทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศทั้งหมดกับประเทศกาตาร์แล้ว ในวันจันทร์ที่ 5 มิ.ย. โดยกล่าวหารัฐบาลโดฮาว่า ให้การสนับสนุนกับการก่อการร้าย

ทางการซาอุฯ ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตและการติดต่อทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ กับกาตาร์ พร้อมเรียกร้องให้ประเทศพี่น้องและบริษัทต่างๆ ทำแบบเดียวกัน โดยอ้างว่าเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการปกป้องประเทศจากการก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรง นอกจากนี้ ซาอุฯ จะถอนกองทัพกาตาร์ทั้งหมดออกจากกองกำลังพันธมิตรอาหรับ ที่กำลังต่อสู้กับกลุ่มกบฏในประเทศเยเมนด้วย

ก่อนหน้านี้ในช่วงเช้าวันจันทร์ กระทรวงกิจการต่างประเทศของประเทศบาห์เรน ออกแถลงการณ์ว่า พวกเขาจะเรียกตัวเจ้าหน้าที่การทูตกลับจากกรุงโดฮา เมืองหลวงเยเมน ภายในเวลา 48 ชั่วโมง และเจ้าหน้าที่การทูตทุกคนของกาตาร์ก็ควรจะเดินทางออกจากบาห์เรนภายในกรอบเวลาเดียวกัน ขณะที่พลเมืองกาตาร์จำเป็นต้องออกจากบาห์เรนภายใน 14 วัน และจะระงับการจราจรทางอากาศและทางทะเลระหว่างทั้ง 2 ประเทศ

ทางการบาห์เรนระบุว่า ความเคลื่อนไหวของพวกเขาเป็นผลมาจากการที่สื่อของกาตาร์ ยั่วยุ, สนับสนุนกิจกรรมของกลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธ และจัดหาเงินทุนให้กลุ่มที่เชื่อมโยงกับประเทศอิหร่านก่อวินาศกรรมและแพร่กระจายความวุ่นวายในบาห์เรน

ด้าน (WMA) สื่อรัฐบาลของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รายงานว่า ยูเออีจะตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ และให้เวลาเจ้าหน้าที่การทูตของกาตาร์เดินทางออกจากประเทศ 48 ชั่วโมง โดยอ้างเหตุผลเดียวกับบาห์เรนว่า กาตาร์สนับสนุนผู้ก่อการร้าย ส่วนประเทศอียิปต์ นอกจากจะตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ พวกเขายังปิดน่านฟ้าและท่าเรือจากการคมนาคมกับกาตาร์ โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องประเทศ

...

ทั้งนี้ สำนักข่าว อัลจาซีรา ระบุว่า ต้นเหตุของเรื่องนี้มาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพ.ค. ซึ่งกาตาร์อ้างว่า กลุ่มแฮกเกอร์เจาะระบบของสำนักข่าวของรัฐบาล เผยแพร่ข้อความปลอมเกี่ยวกับอิหร่านและอิสราเอล และอ้างว่าเป็นคำพูดของเจ้าผู้ครองนคร (emir) ซึ่งไม่เป็นความจริง แต่เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจต่อชาติอาหรับที่เป็นเพื่อนบ้านอย่างมาก

อนึ่ง กาตาร์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประเทศเพื่อนบ้านมาโดยตลอดว่าให้การสนับสนุนกลุ่มอิสลามิสต์ รวมทั้งกลุ่ม ภราดรภาพมุสลิม ที่ถูกซาอุดีอาระเบียและยูเออีระบุให้เป็นกลุ่มนอกกฎหมาย เนื่องจากท้าทายการปกครองของประเทศ.