ประกาศใช้แล้ว กฏกระทรวงฉบับที่ 21 ปรับปรุงเกณฑ์แอลกอฮอล์ในเลือด ผู้ขับขี่มีอายุไม่ถึง 20 รวมถึงผู้ขับขี่ไม่มีใบอนุญาตขับรถ และมีใบอนุญาตขับรถแบบชั่วคราว ถ้ามีแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มก. ถือว่าเมาสุรา...
เมื่อวันที่ 31 พ.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ กฎกระทรวงฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2560) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 87/2557 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติม ผู้รักษาการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอํานาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตํารวจ ลงวันที่ 10 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 และมาตรา 142 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2557 นายกรัฐมนตรี ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ให้ยกเลิกความใน (1) ของข้อ 3 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
(1) กรณีตรวจวัดจากเลือด เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เว้นแต่ผู้ขับขี่ในกรณี ดังต่อไปนี้มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
(ก) ผู้ขับขี่ซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
(ข) ผู้ขับขี่ซึ่งได้รับใบอนุญาตขับรถชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
(ค) ผู้ขับขี่ซึ่งมีใบอนุญาตขับขี่สําหรับรถประเภทอื่นที่ใช้แทนกันไม่ได้
(ง) ผู้ขับขี่ซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับขี่ หรืออยู่ระหว่างถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
อย่างไรก็ตามท้ายประกาศดังกล่าวระบุเหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ ว่า การขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น เป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน เนื่องจากปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด มีผลทำให้ประสิทธิภาพในการควบคุมยานพาหนะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งผู้ขับขี่ที่มีอายุน้อย หรือมีประสบการณ์ในการขับขี่ไม่เพียงพอ แม้จะมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเพียงเล็กน้อยก็มีผลทำให้ความสามารถในการควบคุมยานพาหนะลดลงได้
...
สมควรกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดให้เหมาะสำหรับผู้ขับขี่ดังกล่าว เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนจากผู้ขับขี่ยานพาหนะที่เมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้.