นายธีร์ ภวังคนันท์ หัวหน้าศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน (ฉก.ชน.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า จากสถิตินักเรียนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในช่วงที่ผ่านมา พบว่ากรณีที่เกิดขึ้นบนท้องถนนเริ่มมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ฉก.ชน.สพฐ. จึงประชุมกับศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) เพื่อร่วมกันพัฒนาคู่มือการจัดทัศนศึกษาสำหรับสถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเชิญตัวแทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 42 เขต และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ภาคละ 2 เขต มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ก่อนได้ข้อสรุปอย่างไม่เป็นทางการว่าในคู่มือควรมีประเด็นสำคัญ 3 เรื่อง 1. รถ 2. พนักงานขับรถ และ 3. สัญญาจ้าง
หน.ฉก.ชน.สพฐ. กล่าวต่อไปว่า เรื่องรถกำหนดให้ต้องตรวจสภาพก่อนใช้งาน มีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง พนักงานขับรถต้องตรวจสอบความพร้อมในการปฏิบัติงาน ไม่ขับรถติดต่อกันจนล้าก่อนมารับงาน ไม่ติดยาเสพติด และต้องมีประสบการณ์ในพื้นที่ที่ต้องขับรถพาเด็กไป ส่วนเรื่องสัญญาต้องทำให้รัดกุม และต้องทำสัญญาล่วงหน้า โดยให้เขตพื้นที่ฯเป็นผู้ดูแลแทนโรงเรียน ปัจจุบัน สพฐ.ประมาณการว่าในหนึ่งปีการศึกษา โรงเรียนสังกัดสพฐ.ต้องใช้รถถึง 40,000 คันในการนำเด็ก 1.6 ล้านคน ไปทัศนศึกษา การมีแผนบูรณาการร่วมกันในระดับของเขตพื้นที่ฯ และกลุ่มจังหวัด จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อให้ทราบล่วงหน้าว่าใน 1 ปีการศึกษา จะมีปริมาณการจัดทัศนศึกษากี่ครั้ง กี่โรงเรียน เด็กกี่คน ที่ไหน วันอะไร ออกเดินทางกี่โมง ระยะเวลาที่ใช้เดินทาง โดยเมื่อได้ข้อสรุปการทำคู่มือดังกล่าวทั้งหมดแล้วจะเสนอเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พิจารณาสั่งการให้เขตพื้นที่ฯ และสถานศึกษาปฏิบัติตามคู่มือต่อไป.
...