หวังเด็กไทยรู้เส้นการเรียน

เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2560 ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ นพ. ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงเรื่องการพัฒนาครู เนื่องจากนายกฯได้รับทราบข้อมูลว่าประเทศสิงคโปร์มีสถาบันผลิตครูแห่งเดียว และมีมาตรฐานการผลิตครูแห่งเดียว รวมถึงการอบรมพัฒนาครูจะเหมือนกันทั้งประเทศ ดังนั้นจึงอยากให้ประเทศไทยทำมาตรฐานเดียวได้หรือไม่ รมว.ศึกษาธิการ จึงมอบให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา รับไปดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมาคุรุสภาได้เตรียมจัดทำมาตรฐานครูของประเทศไทยไว้แล้ว โดยจะเร่งดำเนินการจัดทำมาตรฐานดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน และเมื่อจัดทำมาตรฐานครูเสร็จสิ้นแล้วให้คุรุสภาส่งต่อให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปดำเนินการ เพื่อให้มหาวิทยาลัยที่ผลิตครูต้องจัดการเรียนการสอนตามมาตรฐานที่คุรุสภากำหนดเอาไว้ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเหมือนอย่างที่ผ่านมา

โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ นายกฯ ยังกล่าวถึงการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศสิงคโปร์ ที่ทำให้คนรู้จักเส้นทางการเรียนตั้งแต่เด็ก ทั้งนี้เด็กจะรู้ว่าในอนาคตตจะเลือกเรียนระดับอุดมศึกษาหรือสายอาชีพตามความถนัดของตัวเอง เนื่องจากสิงคโปร์มีระบบบังคับการเลือกเรียนโดยผ่านการสอบ แต่ประเทศไทยคงไม่สามารถใช้ระบบการบังคับแบบนั้นได้ ที่ประชุมจึงมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปคิดกระบวนการให้เด็กรู้เรื่องเส้นทางอนาคตของตัวเองตั้งแต่เด็ก โดยมีแนวทางการดำเนินการใน 4 รูปแบบ ได้แก่ 1.การจัดระบบแนะแนว 2.จัดทำหลักสูตรเสริมให้เด็กที่เรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ออกไปฝึกประสบการณ์อย่างน้อย 2 สัปดาห์ในสถานประกอบการ เช่น โรงพยาบาล โรงงาน สถานีตำรวจ หรือตามสถานที่ที่เด็กสนใจ เป็นต้น เพื่อให้เด็กเรียนรู้ถึงความต้องการของตัวเองว่ามีความถนัดแบบไหน ชอบหรือไม่ชอบ และหลักสูตรนี้ต้องเป็นหลักสูตรบังคับด้วย 3.มีระบบเสริมอาชีพในโรงเรียน เช่น การทำโรงเรียนกีฬา โรงเรียนดนตรี และ 4.ขอให้โรงเรียนขยายโอกาสปรับการสอนอาชีพให้มากขึ้น สำหรับหลักสูตรบังคับฝึกประสบการณ์วิชาชีพของเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 3 นั้น จะเริ่มดำเนินการทันทีในภาคเรียนที่ 2/2560.

...