แสดงแสนยานุภาพ!! ผบ.สส.นำ ผบ.เหล่าทัพ และผบ.ตร.ลงเรือจักรีนฤเบศร ตรวจเยี่ยมและชมการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2560 ณ อ่าวไทย โดยเป็นการฝึกปีที่ 2 ตามวงรอบในภาคทะเล เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาหน่วยจากระดับมาตรฐานไปสู่มืออาชีพ ในการมีความพร้อมที่จะรับมือกับภัยคุกคามทุกรูปแบบ ตั้งแต่การรักษาอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การรักษากฎหมาย...

เมื่อเวลา 12.10 น.วันที่ 2 พ.ค.60 พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผบ.สส. พร้อมด้วยพล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผบ.ทอ. และพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มาตรวจเยี่ยมการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2560 บน เรือหลวงจักรีนฤเบศร บริเวณอ่าวไทยตอนบน โดยมี พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผบ.ทร. และพล.ร.อ.พลเดช เจริญพูล รองผบ.ทร. ในฐานะผู้อำนวยการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2560 ให้การต้อนรับ

โดยการฝึกกองทัพเรือประจำปีเป็นการฝึกที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดของกองทัพเรือ ซึ่งเป็นการบูรณาการการฝึกภายในกองทัพเรือ ด้วยการนำขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางเรือตามสาขาต่างๆ การปฏิบัติและการสนับสนุนของกรมในส่วนบัญชาการส่วนยุทธบริการ และส่วนการศึกษา ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มาทำการฝึกภายใต้สถานการณ์เดียวกัน และใช้ทรัพยากรร่วมกัน

...

การฝึกกองทัพเรือประจำปี 60 เป็นการฝึกปีที่ 2 ตามวงรอบการจัดการฝึก 2 ปี ซึ่งเป็นการปรับแนวทางการจัดการฝึกใหม่และเริ่มดำเนินการเป็นครั้งแรก โดยใช้สถานการณ์ฝึกต่อเนื่องจากการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2559 ที่ทำการฝึกในขั้นสถานการณ์ปกติ-ความขัดแย้งระดับต่ำ เน้นการฝึกเกี่ยวกับการวางแผนประณีตการรักษากฎหมายในทะเล และการช่วยเหลือประชาชน สำหรับการฝึกในปีนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบกระบวนการวางแผนทางทหาร ทดสอบการอำนวยการยุทธ์และทดสอบขีดความสามารถตามสาขาปฏิบัติการของหน่วย ทำการฝึกในสถานการณ์ความขัดแย้งระดับกลางจนถึงระดับสูง โดยมีขั้นตอนการฝึก ประกอบด้วย ขั้นการอบรมก่อนการฝึก ในห้วงธันวาคม 2559-มกราคม 2560 เพื่อทบทวนความรู้ความเข้าใจให้กับกำลังพลและเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มการฝึก ขั้นการฝึกปัญหาที่บังคับการ ในห้วง กุมภาพันธ์-มีนาคม 2560 ทำการฝึกวางแผนเผชิญสถานการณ์วิกฤติ การอำนวยการยุทธ์ตามคำสั่งยุทธการ แนวทางการใช้กำลังของ กองทัพเรือ การฝึกด้านการส่งกำลังบำรุง การปฏิบัติการข่าวสาร สงครามสารสนเทศ/สงครามไซเบอร์ และสงครามที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง

สำหรับขั้นการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเลในห้วง เมษายน-พฤษภาคม 2560 เป็นการฝึกสนธิกำลังระหว่างหน่วย ทำการฝึกตามขีดความสามารถการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่างๆ ทั้งในระดับยุทธการและยุทธวิธี การฝึกควบคุมบังคับบัญชาและการอำนวยการยุทธ์ของศูนย์ปฏิบัติการ โดยมีรายการฝึกสำคัญ ประกอบด้วย การฝึกยุทธวิธีร่วมกองเรือ การฝึกปฏิบัติการร่วมระหว่างกำลังทางเรือและอากาศยาน การฝึกป้องกันพื้นที่ของทัพเรือภาค การฝึกยิงอาวุธทางยุทธวิธีของหน่วยต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งประจำพื้นที่ การฝึกปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบกและส่งผ่านกำลังทางบก รวมทั้ง การฝึกสนธิกำลังดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง

ส่วนสำคัญของการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2560 การฝึกปัญหาที่บังคับการได้ใช้โครงสร้างจริงทำการฝึก โดยมี ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ร่วมการฝึกด้วย ทำให้ทุกหน่วยมีความมุ่งมั่นตั้งใจ มีความกระตือรือร้น และแสดงให้เห็นถึงกำลังพลทุกระดับของกองทัพเรือ ได้เข้าร่วมการฝึกอย่างแท้จริงและได้ทำการฝึกปัญหาที่บังคับการควบคู่กับใช้ระบบจำลองยุทธ์ทางเรือโดยฝึกสถานการณ์ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงถึง 12 วัน ซึ่งเป็นการฝึกที่ยาวนานที่สุดในรอบทศวรรษ ทำให้ได้ทดสอบระบบงานของศูนย์ปฏิบัติการและการอำนวยการยุทธ์ของหน่วยกำลังต่าง ๆ อย่างสมบูรณ์ได้เน้นการทดสอบเกี่ยวกับแนวความคิดการใช้กำลังของ กองทัพเรือ การควบคุมทะเล และการรักษาเส้นทางคมนาคมทางทะเล ซึ่งจากผลการฝึกแสดงให้เห็นว่าเรือดำน้ำเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์เชิงรุกที่ยากต่อการค้นหา ข้าศึกไม่ได้ใช้เรือดำน้ำในพื้นที่ของตน แต่ใช้แทรกซึมเข้ามาปฏิบัติการในพื้นที่ฝ่ายเรา ทำให้สามารถหาข่าว วางทุ่นระเบิดบริเวณหน้าฐานทัพท่าเรือ ลิดรอนทำลายเรือรบโจมตีเรือสินค้าที่จะผ่านเข้า-ออก ทำให้ฝ่ายตรงข้ามสามารถปิดอ่าว และส่งผลกระทบต่อการรักษาเส้นทางคมนาคมทางทะเลซึ่งฝ่ายเราต้องทุ่มกำลังและสิ้นเปลืองทรัพยากรทั้งเรือผิวน้ำและอากาศยานจำนวนมากในการป้องกันค้นหาและต่อต้านเรือดำน้ำ โดยยุทโธปกรณ์ที่สามารถต่อต้านเรือดำน้ำที่ดีที่สุดก็คือเรือดำน้ำนั่นเอง

การฝึกภาคสนามภาคทะเลถือได้ว่าเป็นการฝึกที่มีการจัดกำลังเข้าร่วมการฝึกมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การฝึกของ กองทัพเรือ โดยมี เรือรบกว่า 38 ลำ อากาศยาน 16 เครื่อง รถรบ/รถเรดาห์ 50 คันปืนใหญ่/ปตอ. 40 แท่นยิงกำลังพลกว่า 5,000 นาย และหน่วยสนับสนุนการฝึกอีกจำนวนมาก รวมทั้งยังได้จัดการฝึกในห้วงใกล้เคียงกับการจัดกำลังไปปฏิบัติราชการอื่น ประกอบด้วย การเข้าร่วมงานสวนสนามทางเรือนานาชาติและนิทรรศการทางเรือ IMDEX ASIA 2017 ที่สิงคโปร์ การร่วมการฝึกผสม CARAT 2017 แบบพหุภาคีครั้งแรกระหว่าง กองทัพเรือ-กองทัพเรือสหรัฐฯ-กองทัพเรือสิงคโปร์ ระหว่างเดินทางไปสิงคโปร์ การฝึกผสม GUARDIAN SEA 2017 กับเรือดำน้ำสหรัฐอเมริกา ในฝั่งทะเลอันดามัน และการฝึกผสม PASSEX ระหว่าง กองทัพเรือไทย-กองทัพเรือออสเตรเลียในห้วงเรือเดินทางกลับมายังไทย ซึ่งเป็นการบูรณาการการจัดกำลังและใช้งบประมาณที่คุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากเป็นการฝึกของหน่วยต่างๆ ใน กองทัพเรือ แล้วในปีนี้ กองทัพเรือ ยังมีนโยบายเพิ่มการฝึกในลักษณะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และบูรณาการการฝึกในระดับยุทธการและยุทธวิธีกับกำลังของ กองทัพบก และกองทัพอากาศ ซึ่งได้มีการเชิญผู้แทนเหล่าทัพมาร่วมประชุมวางแผนและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางการใช้กำลังในขั้นการฝึกปัญหาที่บังคับการรวมทั้งได้เชิญ กองทัพบก และกองทัพอากาศ บูรณาการจัดกำลังเข้าร่วมการฝึกในขั้นการฝึกภาคสนามภาคทะเลซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างดี

โดย กองทัพบก ได้ปรับแผนการฝึกของ กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ โดยจัดกำลัง 2 กองร้อยทหารราบรถเกราะล้อยาง 17 คัน และรถถัง 4 คัน มาร่วมการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2560 และกองทัพอากาศ ได้ปรับแผนการทดสอบการใช้กำลังกองทัพอากาศ ประจำปี 2560 ตามแผน เฉลิมอากาศ โดยจัด เครื่องบิน JAS - 39 (GRIPPEN) 4 เครื่อง เครื่องบิน SAAB 340 (AEW) 1 เครื่อง เครื่องบิน F-16 8 เครื่อง มาร่วมการฝึกรวมทั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สนับสนุนเรือตรวจการณ์ 1 ลำ ของ กองบังคับการตำรวจน้ำ ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของ ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) มาร่วมสาธิตการตรวจค้นเรือต้องสงสัยกระทำผิดกฎหมายในทะเลด้วย

การฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2560 เป็นการเตรียมความพร้อมที่สำคัญตามภารกิจ บทบาทหน้าที่ที่ กองทัพเรือ ได้รับ และจะทำให้สามารถพัฒนาหน่วยที่มีขีดความสามารถอยู่ในระดับมาตรฐาน (Standard Navy) ไปสู่ระดับมืออาชีพ (Professional Navy) ตามนโยบาย ผู้บัญชาการทหารเรือ โดย กองทัพเรือ จะมีความพร้อมที่จะรับมือกับภัยคุกคามทุกรูปแบบ ตั้งแต่การรักษาอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การรักษากฎหมาย จนถึงการช่วยเหลือประชาชนจากภัยพิบัติอันจะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ว่ากองทัพเรือสามารถสร้างความมั่นคงปลอดภัยและอยู่เคียงข้างประชาชนเสมอ รวมทั้งจะทำให้กำลังของเหล่าทัพต่างๆ ที่เข้าร่วมการฝึก มีความรู้ความเข้าใจในการประสานสอดคล้อง และสร้างความคุ้นเคยในการปฏิบัติการร่วมกัน ซึ่งเป็นไปตามหลักนิยมและแนวทางการปฏิบัติการร่วม กับเป็นพื้นฐานสำหรับการฝึกร่วมกองทัพไทยที่จะเกิดขึ้นภายใต้การอำนวยการยุทธ์ที่เป็นเอกภาพของกองบัญชาการกองทัพไทย โดยจะส่งผลให้ในภาพรวมของกองทัพไทยมีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนตลอดไป.