ข่าวร้าย!! เตรียมควักเงินเพิ่มจ่ายค่าไฟ เรกูเลเตอร์ มีมติปรับขึ้นค่าเอฟทีงวด พ.ค.-ส.ค. 12.52 สต. ย้ำปีนี้อยู่ช่วงขาขึ้น จากราคาก๊าซ และต้นทุนอื่นๆ ขยับ ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5079 บาท/หน่วย
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 60 นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ.มีมติให้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 60 อีก 12.52 สตางค์/หน่วย ตามต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้น ส่งผลให้ค่าเอฟทีในงวดใหม่อยู่ที่ -24.77 สตางค์/หน่วย จากเดิมที่อยู่ระดับ -37.29 สตางค์/หน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานจะมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทอยู่ที่ 3.5079 บาท/หน่วย ซึ่งไม่นับรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
ทั้งนี้ กกพ.ได้พิจารณาผลการคำนวนค่าเอฟทีสำหรับการเรียกเก็บในงวดใหม่ที่จะต้องจัดเก็บในอัตรา -19.46 สตางค์/หน่วย เพิ่มขึ้นจากงวดก่อนหน้า 17.83 สตางค์/หน่วย ซึ่งเป็นไปตามที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีนี้ และมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าในปีนี้อยู่ในช่วงขาขึ้นด้วย โดยสาเหตุหลักมาจากราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นตามรอบการปรับราคาตามสัญญาจากทั้งแหล่งในอ่าวไทยและเมียนมา และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้
อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ค่าเอฟทีมีความผันผวนมากเกินไป กกพ.จึงมีมติให้ปรับเพิ่มค่าเอฟทีสำหรับงวดใหม่ขึ้นเพียง 12.52 สตางค์/หน่วย โดยปรับลดค่าเชื้อเพลิงในช่วงที่แหล่งก๊าซยาดานา ในเมียนมา หยุดซ่อมบำรุงเมื่อวันที่ 25 มี.ค.-2 เม.ย.60 เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลง 1.05 สตางค์/หน่วย และนำเงินค่าปรับและค่าชดเชยต่างๆ ที่ได้รับจากการบริหารสัญญาจัดหาเชื้อเพลิงและสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่างๆ มาลดค่าเอฟทีลงได้อีก 4.26 สตางค์/หน่วย
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่มีผลกระทบต่อราคาเชื้อเพลิงและการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. 60 ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. 60 อยู่ที่ 0.10 บาท/เหรียญสหรัฐ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เกิดขึ้นจริงเฉลี่ยเดือน ก.พ.60 ที่ 35.19 บาท/เหรียญสหรัฐ, ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. 60 เท่ากับ 68,198 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 9.39% จากช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 60
ทั้งนี้ สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. 60 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก 65.14% รองลงมาเป็นรับซื้อไฟฟ้าจากลาว 10.70% ถ่านหินนำเข้า 8.58% และลิกไนต์ 8.55%
ขณะที่ แนวโน้มราคาเชื้อเพลิง คาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติรวมค่าผ่านท่อ อยู่ที่ 244.58 บาท/ล้านบีทียู เพิ่มขึ้นจากงวดที่ผ่านมา 9.35 บาท/ล้านบีทียู ราคาน้ำมันเตาอยู่ที่ 12.47 บาท/ลิตร ลดลง 3.39 บาท/ลิตร ส่วนราคาน้ำมันดีเซล อยู่ที่ 20.77 บาท/ลิตร เพิ่มขึ้น 0.09 บาท/ลิตร ราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าเอกชน อยู่ที่ 2,554.79 บาท/ตัน ลดลง 8.02 บาท/ตัน และราคาลิกไนต์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ที่ 693 บาท/ตัน ไม่เปลี่ยนแปลง
สำหรับ ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามนโยบายของภาครัฐ ในส่วน Adder และ FiT ในเดือน พ.ค.-ส.ค. 60 ปรับเพิ่มขึ้นจาก 13,148.10 ล้านบาทในงวดที่แล้ว มาอยู่ที่ 13,536.41 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 388.32 ล้านบาท แต่เนื่องจากจำนวนหน่วยไฟฟ้าในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 60 สูงขึ้น
ดังนั้น เมื่อเทียบเป็นอัตราต่อหน่วยแล้วจะทำให้อัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 60 อยู่ที่ 21.77 สตางค์/หน่วย ลดลงจากงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 60 ที่อยู่ระดับ 22.97 สตางค์/หน่วย.