สรุปอุบัติเหตุ 5 วันช่วงสงกรานต์ รวม 2,985 ครั้ง สังเวยแล้ว 283 ศพ เจ็บ 3,087 คน โคราชแชมป์ตายมากสุด 17 คน สาเหตุหลักจากเมาแล้วขับ ขับรถเร็วโดยเฉพาะช่วงเวลา 4 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม

วันนี้ 16 เม.ย. 60 พล.ต.ต.สมชาย เกาสำราญ ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง สรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 5 พบว่า เกิดอุบัติเหตุ 600 ครั้ง โดยมีสาเหตุสูงสุด 3 อันดับแรกจากการเมาแล้วขับ 269 ครั้ง ขับรถเร็ว 149 ครั้ง และตัดหน้ากระชั้นชิด 88 ครั้ง ประเภทยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 2 อันดับแรก ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 518 คัน

รถปิกอัพ 44 คัน แยกเป็น รถส่วนบุคคล 558 คัน รถโดยสารสาธารณะ 34 คัน รถบรรทุก 3 คัน พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิตและบาดเจ็บ 5 อันดับแรก ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย เมาแล้วขับ ขับรถเร็ว ตัดหน้ากระชั้นชิด และไม่มีใบอนุญาตขับรถ ผู้เสียชีวิต 53 ราย แยกเป็น เสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ 29 ราย ระหว่างนำส่งโรงพยาบาล 4 ราย และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 20 ราย

สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ขับรถเร็ว 22 ราย เมาแล้วขับ 13 ราย และตัดหน้ากระชั้นชิด 13 ราย ประเภทรถที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 32 ราย (ไม่สวมหมวกนิรภัย 14 ราย) รองลงมาได้แก่ รถปิกอัพ 8 ราย (ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 2 ราย) รถเก๋ง 6 ราย สถานะของผู้เสียชีวิตเป็นผู้ขับขี่ 33 ราย ผู้โดยสาร 15 ราย คนเดินถนน 3 ราย และยังไม่สามารถระบุได้ 2 ราย ผู้บาดเจ็บ 634 คน

สำหรับการวิเคราะห์สถิติอุบัติเหตุของวันที่ 15 เม.ย. พบว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาแล้วขับ ร้อยละ 44.83 ขับรถเร็ว ร้อยละ 24.83 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.95 รถปิกอัพ ร้อยละ 7.13 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 61.83 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 36 บนถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 35.67 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01–20.00 น. ร้อยละ 33.00 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 23.14 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี 30 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงราย และนครราชสีมา (4 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี (33 คน)

...

ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,041 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 64,125 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 856,898 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 149,758 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 43,783 ราย ไม่มีใบขับขี่ 38,540 ราย จัดตั้งด่านชุมชน 21,708 ด่าน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 170,752 คน ส่วนข้อมูลการเดินทางโดยการใช้รถขนส่งสาธารณะ ณ วันที่ 15 เมษายน 2560 รวมจำนวน 8,250,687 คน  เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 2.80 และมีผู้บาดเจ็บระหว่างวันที่ 11–14 เมษายน 2560 เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 13 ราย

อย่างไรก็ตาม ได้สรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม 5 วัน (11-15 เม.ย.) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,985 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 283 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 3,087 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมี 9 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ นราธิวาส บึงกาฬ พังงา ภูเก็ต แม่ฮ่องสอน ยะลา สมุทรสงคราม และอำนาจเจริญ จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บในช่วง 5 วัน ได้แก่ ชัยภูมิ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 140 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 17 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 145 คน                     

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า  ได้เน้นย้ำให้จังหวัดบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่เข้มข้นการดำเนินมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่อง เน้นการแก้ไขปัญหาในมิติเชิงพื้นที่ กำชับจุดตรวจ ด่านตรวจ ด่านชุมชน และจุดบริการเพิ่มความถี่ในการเรียกตรวจผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ พร้อมสนธิกำลังทุกภาคส่วนดูแลเส้นทางสายรอง เส้นทางเชื่อมต่อเข้าสู่เส้นทางสายหลัก และจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ อาทิ ทางแยก ทางร่วมที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจร นอกจากนี้ ให้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มจุดแวะพัก จุดบริการประชาชนในเส้นทางสายหลัก เพื่ออำนวยความสะดวกและให้บริการด้านต่างๆ แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน

นอกจากนี้ จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วงการเดินทางกลับ มักพบว่า มีสาเหตุจากการขับรถเร็ว และขับรถตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด รวมถึงการแซงบนริมไหล่ทาง ศปถ.จึงได้ประสานจังหวัดจัดเจ้าหน้าที่อำนวยการจราจรและตั้งกรวยในเส้นทางเชื่อมต่อที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่น เพื่อชะลอความเร็วของรถและป้องกันการแซงในระยะกระชั้นชิด พร้อมเพิ่มความเข้มข้นในการเรียกตรวจ เพื่อให้ผู้ขับขี่เกิดความตื่นตัว และป้องกันการหลับในที่เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงกวดขันการจอดรถริมทาง และร้านค้าที่วางสิ่งของล้ำช่องทางจราจร เพื่ออำนวยการจราจรให้มีความคล่องตัวมากขึ้น.