ความที่เป็นผู้อำนวยการด้านพัฒนาธุรกิจ หรือ Director of Business Development ให้กับ Tripplus ซึ่งเป็นบริษัทที่อาลีบาบา WeChat และไป๋ตู้ สามบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนมีหุ้นอยู่ Tripplus เป็นบริษัทที่ทำ Payment gateway สำหรับ WeChat Pay, Ali Pay และ Baidu Pay ในประเทศไทย

ทำให้ผมเป็นคนหนึ่งซึ่งถูกทั้งชาวจีนและไทยถามว่า ทำไมแจ๊ค หม่า จึงให้อาลีบาบาไปตั้งศูนย์กระจายสินค้าที่มาเลเซียแทนไทย? ทั้งที่แต่เดิม นายหม่ามาพบกับผู้ใหญ่ฝ่ายไทยถึง 2 ครั้ง แล้วก็กลับไปคุยกับใครต่อใครว่า อ้า ไทยเป็นฮับบนภาคพื้นประชาคมอาเซียนที่ดีที่สุด จังหวัดที่นายหม่าบอกว่าเป็นสุดยอดอภิพญามหาฮับก็คือ ฉะเชิงเทรา

คำตอบของผมก็คือ “ไม่ทราบครับ”

ขณะนี้ ผมค้างบ้านเพื่อนชาวเยอรมันซึ่งจบเศรษฐศาสตร์มาจากเนเธอร์แลนด์รุ่นเดียวกับผม ปัจจุบันเพื่อนแต่งงานกับสาวมาเลเซียเชื้อสายจีน เมื่อคืน ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ พวกเราก็ยังนั่งคุยกันถึงเรื่องที่นายหม่าตัดสินใจย้ายฐานมามาเลเซียเสียจนดึกดื่น

นายหม่าสนทนากับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเพียง 10 นาที ก็ตัดสินใจใช้มาเลเซียเป็นศูนย์กระจายสินค้า ทั้งที่ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของมาเลเซียด้อยกว่าไทยมาก

ไม่มีใครรู้ความจริงดอกว่า อะไรคือเหตุผลที่แท้จริงที่นายหม่าใช้ประกอบการตัดสินใจในครั้งนี้? แต่ที่เดากันไปก็มีหลายอย่าง นายหม่าอาจกลัวความไม่แน่นอนทางนโยบายของไทย ซึ่งมีความผันผวนรวนเรเป๋ไป๋ไปตามอารมณ์ของคณะผู้นำ กลัวการเมืองที่ไม่มั่นคง สิ่งที่นายหม่าน่าจะกลัวมากที่สุดก็คือ กลัวว่าอนาคต ไทยอาจจะใช้ ‘ซิงเกิลเกตเวย์’ เพราะธุรกิจของนายหม่าใช้เทคโนโลยีออนไลน์ ซึ่งซิงเกิลเกตเวย์เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจมาก

ทีมงานของนายหม่าคงจะเอาพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ของไทยไปศึกษาแล้วศึกษาอีก โดยใช้นักวิเคราะห์เจาะลึกทุกประเด็น ผมเชื่อว่าคณะสุดยอดสมองของโลกคงอ่านกฎหมายคอมพิวเตอร์ไทยทุกมาตรา แล้วก็จึงลงความเห็นเหมือนกันว่า อ้า “เซย์โน” ดีกว่า

...

อุปสรรคอีกอย่างหนึ่งซึ่งมีการพูดจากันในหลายวงก็คือ ไทยไชโยเป็นประเทศที่ปฏิเสธนวัตกรรมการบริการยุคใหม่ สิ่งหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นผีตาโบ๋โผล่ไปหลอกหลอนทีมงานของนายหม่าให้ตระหนกตกใจก็คือ การห้ามอูเบอร์ให้บริการ ซึ่งทีมงานของนายหม่าอาจจะมองว่า อูเบอร์เป็นแนวโน้มการบริการสากล เมื่อไทยปฏิเสธความเป็นสากล ทีมงานของนายหม่าก็แขยงแขงขนว่า ในอนาคต อาจจะมีการปฏิเสธธุรกิจของอาลีบาบา ก็อาจจะเป็นไปได้

นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียพูดใส่หูนายหม่าว่า ข้าพเจ้าต้องการให้มาเลเซียเป็นศูนย์กลางตลาดโลก การจะเป็นตลาดโลกได้รัฐบาลของข้าพเจ้าจะต้องหนุนอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูให้คณะบุคคลสามารถแข่งขันในตลาดดิจิทัลใหม่ได้

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียไม่ได้ขอให้นายหม่าเอาสินค้าโอทอปประเภทมีดพกกระจกเงากระเป๋าหิ้วแว่นตานาฬิกาฟันปลอมไปขายในโลกออนไลน์เหมือนที่นายกรัฐมนตรีของบางประเทศร้องขอ แต่นายนาจิบ ราซัก ชวนนายหม่าให้มาร่วมกันสร้าง DFTZ หรือ Digital Free Trade Zone ที่แปลเป็นไทยว่าเขตการค้าเสรีดิจิทัล แค่นายราซักขยับปากพูดว่าเขตการค้าเสรีดิจิทัล นายหม่าก็พยักหน้าบอกว่า มาเลเซียนี่แหละ “เหมาะที่สุด”

หลังจากอ่านรายงานด้านลึกเกี่ยวกับไทยแล้ว นายหม่าก็อาจจะตระหนกตกใจกับ “อะไร” บางอย่าง ซึ่งคนที่เล่าให้ผมฟังไม่ยอมบอกว่านายหม่ากลัว “อะไร” แกอาจจะกลัวความปลอดภัย กลัวต้นทุนทางปัญญา กลัวนวัตกรรมความไม่พร้อมด้านเทคโนโลยี ฯลฯ

ไม่ใช่อาลีบาบาของนายหม่าเพียงบริษัทเดียวดอกครับที่กลัวจนขี้หดตดหายและไม่มาลงหลักปักฐานในไทย แต่ไปมาเลเซียแทน เพื่อนเยอรมันยังเล่าถึงบริษัทระดับโลกอีกหลายสิบแห่งที่ใช้มาเลเซียเป็นฐาน (ทั้งที่ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียกำลังร่วง)

จีนกำลังมาแรงทั้งภาคเอกชนและรัฐ จีนตั้งธนาคารโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย หรือ AIIB หลายปีก่อนมีแต่คนหัวเราะเยาะ ทว่าวันนี้ AIIB มีสมาชิก 70 รายแล้วครับ สัปดาห์ก่อน AIIB ต้อนรับสมาชิกใหม่อีก 13 ประเทศ มีทั้งแคนาดา ไอร์แลนด์ เบลเยียม ฯลฯ

ข่าวที่เอกชนใหญ่สัญชาติจีน “อาลีบาบา” ไม่มาลงหลักปักฐานในไทย แต่ไปมาเลเซียแทน กระทบภาพลักษณ์ในสังคมระหว่างประเทศของไทยแรงเหลือเกินครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com