จวกอย่าเอาอนาคตเด็กมาล้อเล่น ศธ.แจงเพื่อชาติรับไทยแลนด์ 4.0

ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้ปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งและแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วย ปี 2560 โดยเปิดทางให้ผู้ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูสมัครสอบได้นั้น เรื่องนี้เป็นความจำเป็นของประเทศ ที่ผ่านมาคุรุสภาได้ออกหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาโดยไม่มีใบอนุญาตฯกับผู้ที่ขาดคุณสมบัติรวมทั้ง
ผู้ที่มีคุณวุฒิในสาขาวิชาขาดแคลน ซึ่งหน่วยงานหรือสถานศึกษามีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องการ โดยปี 2558 ออกให้ส่วนราชการต่างๆ 21,297 ราย ปี 2559 จำนวน 20,845 ราย และปี 2560 ณ เดือน ก.พ. จำนวน 2,226 ราย ที่สำคัญ ศธ.ต้องจัดการศึกษาเพื่อรองรับไทยแลนด์ 4.0 แต่ในคณะครุศาสตร์/
ศึกษาศาสตร์ไม่มีการเปิดสอน จึงจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมาสมัครเป็นครูได้ และแม้จะเปิดให้ผู้ไม่มีใบอนุญาตฯมาสมัครสอบครู แต่หากสอบบรรจุได้ก็ต้องไปพัฒนาตัวเองเพื่อให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตามระยะเวลาที่คุรุสภากำหนด

ด้าน รศ.ดร.คณิต เขียววิชัย อดีตคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยว่า การให้บัณฑิตที่เรียนจบ 4 ปีมาเป็นครูได้เป็นการเอาอนาคตเด็กมาทดลองสอน เพราะครูต้องมีเจตคติความเป็นครู มีจิตวิทยาการสอน ต้องเขียนแผน การสอนและประเมินผลการเรียนได้ อย่าเอาอนาคตเด็กและเรื่องการศึกษามาล้อเล่นจะล้มเหลว การตัดสินใจครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อนักเรียน ที่สำคัญเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งจะส่งผล
ร้ายแรงต่อประเทศ เป็นเสมือนเนื้อร้ายของวงการการศึกษา ทั้งนี้ วันที่ 27 มี.ค.นี้ ม.ศิลปากร, จุฬาฯ, ม.เกษตรศาสตร์, ม.บูรพา, ม.ศรีนครินทรวิโรฒ และอีกหลายสถาบัน จะรวมตัวกันออกแถลงการณ์คัดค้าน โดยจะตั้งโต๊ะล่ารายชื่อคัดค้านที่คณะศึกษาศาสตร์ ม.ศิลปากร จ.นครปฐม

...

ขณะที่ รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะได้สำรวจความคิดเห็นถึงการเปิดโอกาสให้สาขาอื่นสอบบรรจุครู จากนิสิต นักศึกษา ครูอาจารย์ 1,346 คน พบว่า มีผู้ไม่เห็นด้วย 1,130 คน คิดเป็น 84% เห็นด้วย 216 คน คิดเป็น 16% เมื่อถามเฉพาะนิสิตนักศึกษาปริญญาตรีที่กำลังเรียนสายครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ว่าหากเปิดให้ใครมาสอบครูได้ยังคงคิดจะเรียนครูหรือไม่ พบว่าเรียน 371 คน คิดเป็น 43.8% ไม่เรียน 311 คน คิดเป็น 36.7%.