ปากเหวแห่งศรัทธา “พระพุทธศาสนา” ในประเทศไทย จะก้าวข้ามพ้นวิกฤตินี้ไปได้อย่างไร ชวนให้ติดตามอย่ากะพริบตา ในบรรยากาศวันวานการประจันหน้าระหว่าง “พระ” กับ “เจ้าหน้าที่” บริเวณพื้นที่พิเศษ วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี...

มองในมุม “ศรัทธา” เสมือนเส้นบางๆที่บั่นทอนหัวใจชาวพุทธ และหากมองอย่างหัวใจเป็นธรรมในมุมพระ พระเน พระลูกวัด...วัดสีชมพู หรือ “วัดทวีการะอนันต์” ถนนเลียบคลองแอน...คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ไม่ห่างจากวัดพระธรรมกายเท่าใดนัก มีมุมมองที่น่าสนใจ

“เราเป็นชาวพุทธ ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ ไม่ได้มีศาสนาอื่นที่ผู้คนเคารพนับถือเป็นส่วนใหญ่ มองว่า...เรากำลังอยู่ในช่วงวิกฤติศรัทธา ศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนากำลังจางหายไป”

ณ จุดนี้ ศาสนาพุทธไม่ได้ถูกกลืน แต่กำลังโดนอม

“...จะกลืนไหม ไม่รู้ แต่กลืนอยู่...จะคลายออกหรือว่าจะกลืนลงคอ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อมก็หมายถึงว่า...ยังอยู่ระหว่างจะคายจะกลืน เพราะถ้าอมแล้วกลืนเข้าไปในคอ ก็จะหายออกไป ระหว่างนี้ ถ้าคายออกมา...ก็จะมีความเป็นอยู่ที่เกือบปกติ แต่ต้องรอเวลากว่าจะปกติอีกสักระยะหนึ่ง”

ปุจฉาสำคัญต่อจากนี้ พุ่งเป้าไปมองที่ พ.ร.บ.สงฆ์ บัญญัติที่กำลังจะคลอดออกมาเป็นกฎหมายใช้บังคับ ตีกรอบพระสงฆ์ประเทศไทย “ร่างที่เห็น ที่ได้อ่าน...ยอมรับว่า เป็นการทำร้าย ทำลายโดยสิ้นเชิง บ้านเราเองเคยเป็นเมืองพุทธที่รุ่งเรือง เรามีมหาเถรสมาคมเป็นผู้ปกครองดูแล ในหลวง รัชกาลที่ 10 ก็ทรงโปรดเกล้าฯสมเด็จพระสังฆราช...ในบรรยากาศที่ทุกคนต้องฟัง ม.44 ซึ่งเกิดในรัฐบาลนี้...” พระเน ว่า

“บางทีบางอย่าง...กับบางคน เดิมทีเป็นชาวพุทธ วันวานที่ผ่านมา ก็มีความรักศาสนาพุทธ วันเวลาผ่านล่วงเลยไปพอมีครอบครัวต่างกันออกไป แยกจากกันออกไปก็ควรมองความเป็นพุทธให้เยอะๆ แล้วก็เรียกว่าใช้ตรรกะที่มี บ้านเราคือเมืองพุทธแค่นั้นเอง”

...

ในช่วงเวลาอย่างนี้ ไม่อยากให้พุทธโดนกลืน ตอนนี้อยู่ระหว่างโดนอม ถ้าคายออกมา แม้ว่าทุกอย่างจะยังไม่เหมือนเดิมแต่ต้องใช้เวลา...ทัศนะส่วนตัวอาตมาเชื่อว่า ไม่มีทางที่จะกลับมาเหมือนเดิมอย่างแน่นอน เพราะศรัทธาที่ทำกันปัจจุบันนี้ เป็นการทำลายศรัทธาอย่างสิ้นเชิง

ศรัทธา...หายไป

ถามว่าศรัทธาที่หายไปนั้น หายไปมากมายรุนแรงหรือไม่? นั้น ขอตอบว่า...คนที่เข้าใจก็มี สมมติว่ามีคนเข้าใจสัก 10 คน แต่อีก 90 คน อาจจะรู้สึกสงสัย และในอีก 50 คน ก็เริ่มไม่ชอบ ลังเล เบี่ยงเบน

สถานการณ์แห่งวิกฤติศรัทธา ส่งผลให้คนบางคนเวลาเจอพระอาจจะไม่อยากยกมือไหว้

เดินมองเฉย แต่บางคนเมื่อก่อนเจอพระก็กราบนมัสการเจ้าค่ะ นมัสการขอรับ...ก็มีเพียง 10 คน กลุ่มแรกที่กล่าวถึงเท่านั้นที่ทำอย่างนี้... ส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่มีอายุมากๆแล้ว 50 ปีขึ้นไปที่ทำอย่างนั้น เพราะเป็นวิถีชีวิตของเขาอยู่แล้ว แต่ถ้าอายุ 20 กว่าๆไม่ไหว้ด้วยซ้ำ บางทีเดินเฉียดกับพระด้วยซ้ำ

วกกลับมาที่ร่าง พ.ร.บ.สงฆ์ เท่าที่เคยเห็นร่าง ไม่รู้ว่าที่เห็นนั้นเป็นร่างจริงหรือเปล่า แต่ก็พยายามที่จะศึกษาบางข้อบางประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

ข้อที่น่าเป็นห่วง สมมติว่าผ่านเป็นกฎหมายข้อบังคับ หลายข้อถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่สู้ดีนักต่อวงการสงฆ์ที่แทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตคนไทย วัฒนธรรมประเทศไทย

ที่สำคัญ...อาจเป็นชนวนเหตุให้เกิดกระแสต่อต้านขึ้นมาได้ในอนาคต

“ปัจจุบันนี้ประเทศไทยการดูแลพระสงฆ์กว่าสามแสนรูป ต้องยอมรับ ความจริงว่ายังดูแลไม่ทั่วถึง ยกตัวอย่างอาตมาประสบด้วยตัวเองขึ้นรถเมล์...

รถเมล์มีที่นั่งสำหรับพระสงฆ์ แต่ปัญหาก็คือเวลาพระโบกรถเมล์ ก็กลับตีออกขวาไม่เข้ามารับเสียอย่างนั้น...อันนี้ปัญหาด่านแรก แต่พอรับขึ้นมาบนรถ ก็ปรากฏว่าที่นั่งของพระภิกษุสงฆ์ก็มีคนอื่นไปนั่ง พระต้องยืน”

สำคัญที่สุด...กรณีขึ้นรถแท็กซี่ โบกขึ้นรถไปแล้วถึงจุดหมายปลายทางก็บอกคนขับว่า “โยมอาตมาขอบิณฑบาตจะไปเรียน มจร. ถามว่าแท็กซี่จะยอมไหม”

แน่นอนว่า เขาต้องไม่ยอมเพราะนั่นก็คืออาชีพของเขาเหมือนกัน ...เมื่อเป็นเช่นนั้น เป็นความจริงในสังคมปัจจุบัน แน่นอนว่าการดูแลพระสงฆ์ก็ต้องพยายามที่จะดูแลให้ทั่วถึงก่อนที่จะมีกฎหมายบังคับยิบย่อย

“พ.ร.บ.สงฆ์ที่กำลังใกล้คลอดเต็มแก่ ไม่รู้เมื่อไหร่นั้น ลองเอาใจเขามาใส่ใจเราดูบ้างแล้ว ปัญหาทุกอย่างจะคลี่คลายเดินไปอย่างเป็นธรรมชาติ”

อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วง “หมุนเจ้าอาวาส” ดำรงตำแหน่ง 5 ปีแล้วก็ปรับเปลี่ยนหนึ่งครั้งวนไปเรื่อยๆ อยากจะบอกว่านี่คือองค์กรสงฆ์ “ศรัทธา”...ในตัวเจ้าอาวาส ในหมู่บ้าน ชุมชน เมือง ปริมณฑล ในต่างจังหวัด ความศรัทธาเจ้าอาวาสเกิดจากชาวบ้าน ถ้าเกิดวันหนึ่งวันใดต้องหมุนเจ้าอาวาสครบวาระจะเกิดอะไรขึ้น

“เจ้าอาวาสใหม่ได้รับตำแหน่ง อาจจะไม่รู้เรื่องการบริหารจัดการ ซ้ำร้ายอาจไม่สามารถเรียกศรัทธาจากชาวบ้าน ชุมชนได้ ให้วัดเป็นศูนย์รวมจิตใจได้ ท้ายที่สุด...วัดนั้นก็จะเละ ล่ม แล้วก็จะร้าง”

วัฏจักร...เร่ง ล้ม ร้าง จะทำให้ทุกอย่างจบ ล่มสลายไปอย่างรวดเร็วในที่สุด มลายหายสิ้นไป ประวัติศาสตร์ศาสนาพุทธในประเทศอินเดียเป็นอย่างไร...กลัวประเทศไทยจะเป็นอย่างนั้น

หลักๆก็เป็นเช่นนี้ “พระ” เป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธ บรรยากาศวัดในวันทำบุญวันพระใหญ่ไม่น้อยเลยที่เงียบเหงาวังเวง มีแต่คนเฒ่าคนแก่เดินจูงกันมาทำบุญ นั่งหลบกันไปในแต่ละมุมศาลาดูบางตา

“ที่นี่ก็หาย...น่าจะเป็นกันทุกวัด หนึ่งก็คือคนจะคิดว่ารอก่อน...คงจะเป็นเหมือนๆกัน เหมือนวัดใหญ่ๆที่มีเรื่องอยู่ในตอนนี้ จริงๆแล้ว

...

ถ้าเอาความจริงมาพูดกัน รัฐบาลลงพื้นที่ไปสำรวจก็ได้ว่าวัดบางวัดก็ไม่มีจริงๆ ค่าไฟเดือนละสี่...ห้าพันยังต้องค้างจ่าย สมัยนี้ไม่อะลุ่มอล่วยแล้ว ถ้าค้างหนึ่งเดือน...สองเดือนก็ตัดแล้ว”

วัดบางวัดถ้าพระเทศน์ไม่เป็น ไม่ค่อยมีคนตาย ถามหน่อยว่า...ถ้าจะมาดูเงินในบัญชีพระ เอาเงินเข้ากองคลัง แล้วให้ไวยาวัจกรเป็นคนดูแลเงิน...ความจริงมีว่า ไวยาวัจกรไม่ได้มานั่งสวดด้วย ไม่ได้รับรู้อะไรด้วย เคราะห์ซ้ำกรรมซัดถ้าเงินในมือไวยาวัจกรเอาไปใช้แล้ว เงินไม่มี...มีแต่ตัวเลขโชว์หราแค่นั้น วัดจะทำอย่างไร...

“สิ่งที่ห่วงมากที่สุด มองในแง่ร้ายเอาไว้ก่อน...ศาสนาพุทธประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่ปากเหวแห่งศรัทธา กำลังโดนอมแต่ไม่อยากให้กลืน กลืนแล้วใครก็ดึงขึ้นไม่ได้ รอเพียงความหวังเดียว รอให้เรื่องจบ เคลียร์แล้ว ก็พยายามฟื้นคืนขึ้นมาเอง พระสงฆ์ไทย 3 แสนรูป...พระที่ดีก็มีมาก พระไม่ดีก็มีเยอะ ผิดที่สื่ออีกเช่นกัน”

สะท้อนภาพไม่ดีของพระ...นำพาให้เสพแต่เรื่องร้ายๆของพระดื่มเหล้า เมายา...เป็นแค่ส่วนน้อยเท่านั้น ยังมีพระส่วนมากที่มีข้อดีเยอะๆมากมาย... เทศน์เป็น พระนักพัฒนา พระนักวิปัสสนา พระนักบริหาร ไม่เห็นเอามาใช้... ออกสื่อสะท้อนภาพให้สังคมเห็นภาพพระดีๆกันบ้างเลย เรื่องดีๆออกสื่อน้อย...เทียบกับเรื่องร้ายๆไม่ได้เลย

ฝากไปถึงผู้เสพสื่อ ต้องเสพอย่างมีสติ อย่างคนที่ใช้ตรรกะความคิด ที่ละเอียดลึกซึ้ง จงจำไว้ว่า...บ้านเราเป็นเมืองพุทธ เป็นประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ พยายามรักษาเอาไว้อย่าให้ใครมาทำลาย ทำร้าย ถ้ามีโอกาสจงปกป้อง และรีบปกป้อง อย่าให้โดนรังแกจนไม่มีน้ำตาจะไหล ถึงเวลาหนึ่งอยากจะแก้ก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว

“คนที่ป่วย...รักษามีโอกาสหาย มีโอกาสรอด แต่ถ้าคนป่วยไม่รักษา มีโอกาสตาย แล้วก็เผา...”.

...