สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับการชักชวนให้ร่วมลงทุนในหลายรูปแบบผ่านระบบออนไลน์ หรือผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น ลงทุนในธุรกิจ วงแชร์ ปล่อยกู้ ซื้อหุ้น ที่สุดท้ายเป็นเพียงแค่คำหลอกลวงของกลุ่มมิจฉาชีพเท่านั้น
ล่าสุดมีผู้เสียหายจากการถูกชักชวนให้ร่วมเล่นแชร์ออนไลน์ ในช่วงแรกนั้น มิจฉาชีพจะชำระเงินให้แก่ผู้ที่ร่วมลงทุนแบบตรงไปตรงมา และจะให้ผลตอบแทนที่ดีมากกว่าการนำเงินฝากไว้ธนาคาร ได้รับผลตอบแทนในระยะสั้น ไม่ต้องรอนาน ได้รับผลตอบแทนตรงตามกำหนดเวลา และได้รับเงินคืนทั้งต้นเงินพร้อมผลตอบแทนในระยะแรกครบถ้วน เพื่อทำให้เหยื่อตายใจ หลงเชื่อแบบสนิทใจ
เมื่อเหยื่อตกหลุมพรางหลงเชื่อ เหยื่อจะทุ่มทุน เทเงินจนหมดหน้าตัก แม้จะไม่มีเงินในบัญชีแล้ว ก็ไปขอหยิบยืมจากคนอื่น หรือไปชักชวนคนอื่นให้มาร่วมลงทุนด้วย เรียกได้ว่ามีรถขายรถมีบ้านขายบ้าน นำเงินไปลงทุนเพื่อหวังผลประโยชน์ ซึ่งเป็นเพียงแค่ภาพลวงตา
การเล่นแชร์ออนไลน์มีทั้งของจริง และตั้งวงแชร์แบบหลอกๆ ครับ การเล่นแชร์ แม้ว่าจะมีการเสนอดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือเกินร้อยละ 15 ต่อปีก็ตาม แต่ก็ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราครับ เนื่องจากการเล่นแชร์มีพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 รองรับครับ และมีการเสนอดอกเบี้ยด้วยการประมูล ซึ่งเกิดจากความสมัครใจกัน จึงไม่เป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราครับ
...
ความเสี่ยงของการเล่นแชร์อยู่ที่นายวงแชร์หรือสมาชิกวงแชร์ไม่มีความรับผิดชอบ สมาชิกวงแชร์เปียแชร์ได้แล้วหนี นายวงแชร์ก็ปัดความรับผิดชอบ เบื้องต้นแนะนำให้พิจารณาฐานะทางการเงินของนายวงแชร์หรือเท้าแชร์ รวมถึงสมาชิกวงแชร์ให้ดีๆ นะครับ หากสมาชิกวงแชร์หนี นายวงแชร์หรือเท้าแชร์จะมีศักยภาพทางการเงินคืนเงินให้แก่ท่านหรือไม่ ตลอดจนตรวจสอบสมาชิกที่ร่วมเล่นแชร์ว่า ทำงานอะไร ฐานะทางการเงินดีหรือไม่ มีตัวตนจริงหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงของตัวท่านเองครับ
การเล่นแชร์ ซึ่งมีนายวงแชร์หรือเท้าแชร์เป็นบุคคลธรรมดานั้น นายวงแชร์หรือเท้าแชร์มีความรับผิดทางแพ่งที่จะต้องชดใช้เงินต้นและดอกเบี้ยคืนให้แก่ผู้ที่ส่งเงินแต่ยังไม่ได้ประมูล แม้ว่าสมาชิกวงแชร์จะหนีหรือไม่ส่งเงินก็ตาม และยังมีโทษทางอาญา ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 ในกรณีดังต่อไปนี้
มาตรา 6 ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์ หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(1) เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวง
(2) มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน
(3) มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง (สามแสนบาท)
(4) นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์นั้นได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่จะได้รับทุนกองกลางในการเข้าร่วมเล่นแชร์ในงวดหนึ่งงวดใดได้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าผู้ที่สัญญาว่าจะใช้เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดแทนนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ด้วย
มาตรา 7 บทบัญญัติในมาตรา 6 ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สมาชิกวงแชร์จะฟ้องคดี หรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์
มาตรา 17 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 6 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หากนายวงแชร์หรือเท้าแชร์ไม่รับผิดชอบ ไม่ชดใช้เงินแทนสมาชิกวงแชร์ที่เปียแชร์เงินกองกลางได้แล้วหนี ท่านสามารถใช้สิทธิทางศาลบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 และเรียกร้องเงินต้นและดอกเบี้ยคืนได้ครับ
นอกจากนี้ให้ท่านพิจารณาพฤติการณ์ของนายวงแชร์หรือเท้าแชร์ครับว่า มีการกระทำตามมาตรา 6 (1)-(4) หรือไม่ หากมีพฤติการณ์ดังกล่าว ท่านสามารถแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพื่อให้ดำเนินคดีอาญากับนายวงแชร์หรือเท้าแชร์ได้ครับ
ในส่วนของการตั้งวงแชร์ออนไลน์ แบบตั้งใจมาหลอกนั้น จะมีความผิดตามกฎหมายอย่างไรบ้าง น่าจะมีวิธีการสังเกตได้อย่างไร ผมขอยกยอดไปในสัปดาห์หน้าครับ
สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ
Facebook: ทนายเจมส์ LK