ให้อสส.ใช้อำนาจขอข้อมูล มั่นใจ-มัดตัวผู้เกี่ยวข้องได้

“สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ” รมว.ยุติธรรม เป็นประธานประชุมติดตามความคืบหน้าคดีทุจริตรับสินบนบริษัทข้ามชาติ มีมติให้ อสส.ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 ประสานขอข้อมูลกับสหรัฐฯและอังกฤษ มาจัดการกับคนโกง รวมทั้งพิจารณาลด หรือยกเว้นโทษทางอาญากับผู้ให้สินบนและเปิดเผยข้อมูลกับทางการ ส่วนคดีรับสินบนติดกล้องวงจรปิดในรัฐสภา พบเป็นความผิดปกติระหว่างปี 47-49 มี “อุทัย พิมพ์ใจชน-โภคิน พลกุล” เป็นประธานรัฐสภา ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตื่นตัวตรวจสอบครั้งใหญ่หลังบริษัทสัญชาติอเมริกันออกมาแฉหลายโครงการรับสินบน

รัฐบาลเอาจริงเกาะติดคดีรับสินบน ที่กระทรวงยุติธรรม เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 9 ก.พ. นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เป็นประธานการประชุม ศอตช.ติดตามความคืบหน้ากรณีให้สินบนของบริษัทโรลส์รอยซ์ รวมทั้งการพิจารณาหามาตรการป้องกันการทุจริต มีนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาฯสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขาฯ ศอตช. นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาฯคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และผู้แทนจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ใช้เวลาประชุมนาน 3 ชม.

นายสุวพันธุ์ เปิดเผยหลังการประชุมว่าคดีโรลส์รอยซ์มีความเกี่ยวพันกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อนำไปสู่การตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ต้องรอข้อมูลจาก ป.ป.ช. เพื่อนำมาประกอบในการสืบสวนหาผู้เกี่ยวข้อง ซึ่ง ป.ป.ช.ดำเนินสอบสวนไปแล้วบางส่วน หลังได้รับข้อมูลจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) แต่จำเป็นต้องรอข้อมูลให้ครบรอบด้าน ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ เพราะยังไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงให้เห็นพฤติการณ์ได้ชัดเจน

...

นายสุวพันธุ์กล่าวต่ออีกว่า ส่วนคดีสินบนที่เกี่ยวกับการจัดซื้อสายไฟฟ้าเคเบิลของบริษัทเจอเนอรัล เคเบิล คอร์ปอเรชั่น ผู้ผลิตและจำหน่ายสายเคเบิล คดีสินบนสุราข้ามชาติของบริษัทดิอาจีโอ บีแอลซี บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ของอังกฤษ ป.ป.ช.รายงานในที่ประชุมว่าได้ข้อมูลเดิมสอบสวน จนสามารถตั้งอนุกรรมการไต่สวนได้ทั้งคดีแล้ว ส่วนคดีสินบนจัดซื้อกล้องวงจรปิดในรัฐสภา อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลสืบเสาะแสวงหาข้อเท็จจริง

“ที่ประชุม ศอตช.ยังเห็นชอบให้สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ใช้อำนาจหน้าที่ผ่าน พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 ประสานขอข้อมูลกับผู้ประสานงานกลางของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการสืบสวนคดีอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถใช้ดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องได้ นอกจากนี้ ศอตช. ยังได้เห็นชอบแต่งตั้งอนุกรรมการอีกหนึ่งชุด โดยมีเลขาฯ ป.ป.ท. เป็นประธาน ทำหน้าที่รวบรวมความก้าวหน้าในการดำเนินงานที่เกี่ยวพันกับคดีทุจริต เพื่อรายงานผลให้รัฐบาลรับทราบ พร้อมทำหน้าที่ศึกษาหามาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมถึงการพิจารณาข้อเสนอของกระทรวงการคลัง กรณีขอให้ลดหรือยกเว้นโทษทางอาญา ให้กับผู้ให้สินบนและเปิดเผยข้อมูล ซึ่ง ศอตช.จะรวบรวมความคิดเห็นจากทุกหน่วยงาน ก่อนที่จะมีการประเมินผลเป็นข้อสรุปต่อไป เนื่องจากความเห็นดังกล่าว เกี่ยวพันกับกฎหมายหลายฉบับ” นายสุวพันธ์ุกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ ป.ป.ช.อยู่ระหว่างสืบสวนคดีทุจริตรับสินบน 5 คดี ประกอบด้วย 1.คดีรับสินบนจากบริษัทโรลส์รอยซ์ของบริษัท การบินไทยฯ 2.คดีรับสินบนจากบริษัทโรลส์รอยซ์ของบริษัท ปตท. 3.คดีรับสินบนจัดซื้อสายไฟฟ้าเคเบิลจากบริษัทเจอเนอรัล เคเบิล คอร์ปอเรชั่น 4.คดีรับสินบนจัดซื้อกล้องวงจรปิดในรัฐสภา 5.คดีรับสินบนสุราข้ามชาติจากบริษัทดิอาจีโอ บีแอลซี บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ของอังกฤษ

ที่รัฐสภา พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีรับสินบนติดตั้งกล้องวงจรปิดรัฐสภา กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการส่งหนังสือไปที่ ป.ป.ช.ปปง. และ สตง.เพื่อขอตัวแทนจาก 3 หน่วยงานเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการของรัฐสภา คาดจะสามารถประชุมร่วมกันในสัปดาห์หน้า ส่วนของการขอข้อมูลจากต่างประเทศจะต้องขอจากทาง ป.ป.ช.เท่านั้น สำหรับผลการตรวจสอบการจัดซื้อกล้องวงจรปิดช่วงปี 50-52 เบื้องต้นยังไม่พบความผิดปกติ แต่คณะกรรมการได้พบข้อพิรุธในการจัดซื้อจัดจ้างในช่วงปี 47-49 คาดเป็นดำริของประธานรัฐสภาในขณะนั้นที่ต้องการให้จัดซื้อกล้องวงจรปิดดังกล่าว

มีรายงานว่า จากการตรวจสอบรายชื่อประธานรัฐสภาดำรงตำแหน่งในช่วงปี 47-49 พบอยู่มี2 คน ประกอบด้วย นายอุทัย พิมพ์ใจชน ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 44-48 ส่วนนายโภคิน พลกุล ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 48-49

วันเดียวกัน นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวถึงกรณีเว็บไซต์กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา ระบุบริษัท ไบโอ-แรด แลบอราทอรีส์ บริษัทขายอุปกรณ์ตรวจค่าต่างๆในโลหิต ยอมรับข้อเสนอจ่ายค่าปรับแทนการรับโทษทางอาญาและแพ่ง กรณีถูกตรวจสอบพบว่าจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ว่าเมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลออกมา ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเส้นทางการเงิน เอกสารจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์การแพทย์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีข้อพิรุธอะไรหรือไม่ เหมือนกับการตรวจสอบหน่วยงานอื่นๆที่มีการระบุเกี่ยวกับการรับสินบนก่อนหน้านี้ ส่วนการขอข้อมูลไปยังหน่วยงานต้นทางที่ออกมาพูดนั้น ที่ประชุม ศอตช.ได้ข้อสรุปว่าให้เป็นหน้าที่ของอัยการ

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐฯ ออกมาระบุว่ากระทรวงสาธารณสุขมีเอี่ยวเรื่องการจ่ายสินบน ว่าขณะนี้ได้ลงนามในหนังสือคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจข้อเท็จจริงในเรื่องนี้แล้ว โดยมี นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน ในฐานะรองหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน อย่างไรก็ตามการจัดซื้อจัดจ้างนั้นในเบื้องต้นพบว่ามีวงเงินอยู่ประมาณ 35 ล้านบาท แบ่งเป็น กรมอนามัย 10 ล้านบาท กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 10 ล้านบาท กรมการแพทย์ 3 ล้านบาท กรมควบคุมโรครวม 1.4 ล้านบาท และสำนักงานปลัดกระทรวงประมาณ 11 ล้านบาท ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างส่วนใหญ่เป็นของหน่วยงานดำเนินงาน

...

ขณะที่ นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงกรณีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซื้อเครื่อง Molecular Imager PharosFX Plus System หรือชุดวิเคราะห์สารพันธุกรรมที่ติดฉลากด้วยสารเรืองแสงและสารเรดิโอโซโทป วงเงิน 3 ล้านบาท เมื่อวันที่ 4 พ.ค.50 เกี่ยวพันกับคดีการจ่ายสินบนข้ามชาติ ว่าสั่งตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พร้อมกับส่งเรื่องให้ สวทช.ดูด้วยว่าเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่อย่างไร การจัดซื้อเครื่องดังกล่าวเกิดขึ้นมา 10 ปีแล้ว คงต้องใช้เวลาตรวจสอบอีกระยะหนึ่ง