ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก..!

จากคดี ครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร ผู้ที่บอกกับโลกว่าตัวเองเป็น “แพะ” ในคดีขับรถชนคนเสียชีวิต และกำลังอยู่ในขั้นตอนการรื้อคดีและพิสูจน์ความจริงอีกครั้ง!

กระทั่ง วันที่ 6 ก.พ.2559 ได้มีเหล่าบรรดาแม่พิมพ์ของชาติ 4 คน ประกอบด้วย นางอำคา ภูต้องใจ นางบัวลอย คล่องดี นางขวัญภักดิ์ โพธิ์คง และ นางละมัย ปุณริบูรณ์ เดินทางมาที่ ก.ยุติธรรม ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และ ยื่นหนังสือร้องเรียนกับ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ว่าพวกเขาคือ “แพะ” เช่นกัน หลังตกเป็นจำเลยถูกศาลพิพากษาว่ากระทำความผิด จำคุก 4 ปี ในข้อหาให้การเท็จ และซ่อนเร้นพยานหลักฐาน สืบเนื่องจากให้การช่วยเหลือ นายชูศักดิ์ สุทธศรี ผอ.โรงเรียนบึงของหลงวิทยา หลังจากตกเป็นผู้ต้องหายิงนายเพทาย อมัติรัตนะ ครูสอนวิชาดนตรีเสียชีวิต

คดีนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 3 มีนาคม 2552 เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อมีคดีฆาตกรรม ครูสอนดนตรีหนุ่มคาห้องพยาบาลโรงเรียนบึงของหลงวิทยา ผู้ตายถูกยิงหลายนัดเสียชีวิต ในห้องนั้นมีผู้อยู่ในเหตุการณ์ 6 คน ประกอบด้วย ผู้ตาย ผู้อำนวยการโรงเรียนบึงของหลง และ คุณครูหญิงทั้ง 4 คน 

...

ในคดีฆ่าคนตายตำรวจสั่งฟ้อง นายชูศักดิ์ สุทธศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนข้อหาฆ่าคนตาย แต่สู้คดีจนพ้นผิดทั้ง 3 ศาล คือศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และ ศาลฎีกา ขณะเดียวกัน 4 ครูหญิงถูกตั้งข้อหา ให้การเท็จ กับซ่อนเร้นพยานหลักฐาน แต่เรื่องจบลงด้วยการ จำคุก 4 ปี ส่งผลให้พวกเธอทั้ง 4 ต้องเข้าเรือนจำ... 

และเมื่อได้รับอิสรภาพ สิ่งแรกที่พวกเธอทั้ง 4 ทำ คือ ขอความเป็นธรรมเพื่อรื้อฟื้นคดีอีกครั้งหนึ่ง!

ครูทั้ง 4 ได้พบกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ที่บริเวณหน้าห้องประชุมชั้น 8 กระทรวงยุติธรรม พร้อมกับไล่เรียงเรื่องราวว่า...

เย็นวันที่ 3 มีนาคม 2552 วันนั้นเรามานั่งล้อมวงกินเลี้ยงสังสรรค์กัน หลังจากส่งแขกคนอื่นๆ เสร็จ ก็เหลือพวกเรา 6 คน จากนั้นครูดนตรีที่เสียชีวิต ได้เดินมานั่งที่ม้านั่งแทนที่ของ ผอ. ส่วนตัว ผอ. เอง เห็นว่ามีคนนั่งตรงนั้นแล้วก็เลยไปนั่งที่ของแขกแทน

ระหว่างนั้น คุณครูขวัญภักดิ์ มองเห็นต้นไม้ภายนอก เหมือนกับถูกใครบางคนเหยียบ ซึ่งเป็นต้นไม้เล็กๆ ที่เราปลูกไว้ในห้องพยาบาล จึงเดินออกไปดู แต่ไม่เห็นใครจึงเดินกลับ พอหันกลับไปมองก็เห็นต้นไม้ไหวๆ เหมือนมีใครไปชน

“ไปดูอีกทีสิ...”

ครูอำคากำลังจะสะพายกระเป๋าเดินไป 

“บ่มีไผ ดอก”
ปัง...

“ก้มหลบเร็ว”

ผอ.สั่งให้ทุกคนหมอบลง ปัง ปัง เสียงปืนอีก 2 นัดดังขึ้น 
ตอนนี้ทุกคนอยู่ในอาการหวาดผวา ไม่กล้าแม้แต่จะสบตามองคนร้าย แต่ก็ตัดสินใจเหลือบมอง ครูอำคา มองเห็นคนร้ายครึ่งหน้า

จากนั้นทุกอย่างเหมือนหยุดนิ่ง ทุกอย่างเงียบเชียบ สักพักจึงตัดสินใจมอง ก็ไม่เห็นใครแล้ว

...

หลังเกิดเหตุ พวกเราพยายามช่วยเหลือผู้เสียชีวิต ซึ่งตอนนั้นเขาหายใจรวยรินยังไม่เสียชีวิต จากนั้นจึงช่วยกันปั๊มหัวใจ โดยแบ่งหน้าที่กัน บางคนโทรหาตำรวจ รถพยาบาล ไม่นานเจ้าหน้าที่ก็มา

วันนั้นเราถูกเชิญไปสถานีตำรวจ และไปให้การตามที่เห็น ผอ.ถูกตรวจคราบเขม่าดินปืน และมีการไล่ตรวจสอบ เขม่าดินปืน กระทั่งน้ำยาตรวจหมด มีพวกเรา 1 คน ไม่ได้ตรวจ

หลังการสอบสวน ตำรวจตั้งข้อหาเรา “ให้การเป็นเท็จเพื่อให้การช่วยเหลือผู้อื่น” และ “อำพรางซ่อนเร้นหลักฐาน” ทั้งนี้ ในที่เกิดเหตุไม่เจออาวุธปืน...

"เขาหาว่าเราช่วยกันเคลียร์สถานที่เกิดเหตุ แต่ที่จริงแล้ว เราพยายามช่วยชีวิต นายเพทาย เพราะตอนนั้นเขายังไม่ตาย เราพยายามช่วยปั๊มหัวใจ แต่เมื่อตำรวจมาถึงเขามองว่าเราเคลื่อนย้าย เช็ดรอยเลือด จัดฉาก...” ครูทั้ง 4 พูดและเสริมกัน 

ตำรวจถามหมอว่า “มีร่องรอยการปั๊มหัวใจหรือไม่...?” แต่หมอบอกว่า “ไม่มี” ซึ่งเป็นคำถามที่ได้คำตอบที่เรารู้สึกแปลกใจมาก เพราะพวกเราได้ช่วยเหลือและมีคนปั๊ม 2 คน คือ คุณครูบัวลอย กับ คุณครูชูศักดิ์ ด้วยเหตุนี้ ทางครูชูศักดิ์จึงถูกตั้งข้อหาฆ่าคนตาย

“สู้ ๆ สู้ ๆ”
ผอ.พยายามปลุกผู้บาดเจ็บให้มีกำลังใจต่อสู้กับบาดแผล
แต่พยานในคดีนี้ ซึ่งทำงานใกล้ๆ กับที่เกิดเหตุกลับบอกว่า “อย่าทำเขา อย่าทำเขา”
ซึ่งไม่รู้นำคำพูดนี้มาจากไหน คุณครูบัวลอย ขยายความ ที่เสียงดังๆ นั้น เพราะผู้อำนวยการเขาพยายามเรียกให้คนมาช่วย ให้นักการภารโรงเข้ามา

...

อย่างไรก็ตาม หลังการต่อสู้ในชั้นศาล ผู้อำนวยการที่ถูกตั้งข้อหาฆ่าคนตาย ศาลชั้นต้น อุทธรณ์ และฎีกา ได้ยกฟ้อง ในขณะที่พวกเรา 4 คน กลับถูกตั้ง 2 ข้อหาดังกล่าว โดยศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุก 4 ปี ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น และศาลฎีกาไม่รับฎีกา

ชีวิตในเรือนจำ ไม่ลำบากนัก เป็นครูสอนหนังสือนักโทษ

ครูทั้ง 4 เล่าด้วยเสียงสั่นเครือว่า หลังจากถูกศาลพิพาษายืนให้จำคุก พวกตนก็ถูกส่งตัวมาที่เรือนจำกลางบึงกาฬ ถามว่าชีวิตลำบากไหม คำตอบคือไม่ลำบากมาก เพราะพวกเราทำตามกฎระเบียบเรือนจำทุกอย่าง สิ่งที่เราช่วยเหลือได้ก็คือพวกเราพอมีความรู้ จึงนำความรู้ที่ติดตัวมา มาช่วยสอนหนังสือในเรือนจำ บำเพ็ญประโยชน์ในเรือนจำ เราทำอะไรเราก็ช่วยทำ

ขณะเดียวกันครอบครัวของเราทั้ง 4 คน ก็ช่วยเดินเรื่องเข้าร้องเรียนที่ ก.ยุติธรรมมาตลอด เราได้รับการอภัยโทษ จึงทำให้ติดคุกเพียงรวม 1 ปี 10 เดือน ก็พ้นโทษออกมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา

“อยากจะขอความเป็นธรรมให้กับเราบ้าง...เราไม่ได้ทำผิด เราไม่ได้ให้การเท็จ เราไม่ได้ช่วยเหลือใคร แต่กลับถูกจับติดคุก หน้าที่การงานก็หมดสิ้น ยังดีที่งานทางราชการแค่ถูกปลดออก ยังได้สวัสดิการ บำนาญ พวกเราแก่แล้ว ใกล้เกษียณแล้ว สิ่งที่อยากได้คือ การพิสูจน์ว่าเราไม่ได้ผิด ขอได้ศักดิ์ศรีความเป็นคนกลับคืนเราก็พอใจแล้ว ทุกวันนี้ใช้ชีวิตไม่ปกติ...สิ่งที่กลัวก็ยังกลัวอยู่ มือปืนที่ยิงก็ไม่รู้เป็นใครและยังลอยนวลอยู่"

...

รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ยัน พร้อมตรวจสอบข้อเท็จจริง ขอเวลาทำงาน 

ขณะที่ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้ที่รับหนังสือขอความเป็นธรรมจากครูทั้ง 4 คน บอกกับทีมข่าวฯ ว่า สาเหตุที่ครูทั้ง 4 มาร้องเรียนกับกระทรวงยุติธรรมอีกครั้ง เพราะเห็นว่าเวลานี้ งานด้านความยุติธรรมและการคืนความเป็นธรรมกำลังได้รับความสนใจจากประชาชน เรื่องนี้เป็นเรื่องของ “ความถูก” และ “สิ่งผิด” และเขาคงรู้สึกคล้ายกับ “ครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร” เพราะต้องติดคุกมา

“ผมเข้าใจว่าครูทั้ง 4 รู้สึกว่าไม่มีที่ยืนในสังคม...สายตาลูกศิษย์ คนรอบตัว จะมองเขายังไง สิ่งที่เขาทำก็เพื่อเรียกร้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตัวเองกลับมาก่อน โดยไม่รู้ว่าจะได้คืนหรือไม่ คนที่เดือดร้อนและเข้าร้องเรียนลักษณะอย่างนี้สันนิษฐานได้ว่าอาจจะ “บริสุทธิ์” ยิ่งคดีหลักของคดีนี้ ศาลยกฟ้อง เรียกว่า ยกฟ้องแบบใสสะอาด ไม่ได้เป็นการยกประโยชน์แห่งความสงสัยด้วย แบบนี้ชาวบ้านมองว่าเขาไม่น่าจะมีความผิด แต่...การจริงๆ แล้วการตรวจสอบในแบบกระบวนการยุติธรรม เรื่องนี้ต้องใช้เวลา...”

รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวอย่างเห็นใจต่อว่า คนเราเวลาจะนอน ตื่น เขาคิดตลอด แต่สิ่งที่เขาทำตอนนี้ คือ เขาพอจะรู้แล้วว่าเขาจะต้องได้ความยุติธรรมคืน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีกระบวนการของมัน หากเข้ามาในกระบวนการของตน ตนก็จะตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป

ด้าน นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา กล่าวว่า คดีให้การเท็จ กับ คดีฆ่าคนตาย นับเป็นคนละประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกัน คดีให้การเท็จนั้นต้องมาดูว่าเดิมผู้ต้องหาให้การอย่างไร ทำไมศาลถึงลงโทษ ส่วนกรณีการรื้อฟื้นคดีนั้นก็คงคล้าย ๆ กับคดีครูจอมทรัพย์ คือ ต้องหาหลักฐานใหม่มาประกอบยืนยันว่าตนเองไม่ได้กระทำความผิด แล้วก็ขอยื่นเรื่องตามกระบวนการต่อไป 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน