ปชป.จี้ทบทวนลดโทษให้สินบน นปช.ฉุนโยนบาปล้มปรองดอง วีระโวยถูกบีบถอนฟองราชภักดิ์

ป.ป.ช.ขึงขังประสาน ครม.-ปปง.ขุดคุ้ยสินบนข้ามชาติ จับมือ ศอตช.ทะลวงข้อมูลให้เห็นความคืบหน้า ไม่ขัดข้องข้อเสนอ รมว.คลัง ใช้ ม.44 ติดสปีดสางโกงงาบสินบน แต่เตือนควรทำเฉพาะภายใน อย่าโยงไปเกี่ยวพันเรื่องระหว่างประเทศ เพราะจะส่งผลเสียเรื่องการประสานข้อมูล ปชป.ตามบี้ทบทวนข้อเสนอลดโทษคนให้สินบน ชี้ทำกระบวนการกฎหมายเสื่อมศักดิ์สิทธิ์ พลังชลสำทับเปิดช่องให้ใช้กลโกง ด้าน “เสรี” ยืนกรานหนุนข้อเสนอ รมว.คลัง รีดข้อมูลแลกลดโทษ ผู้ว่าการ สตง. ปูด 2 ก. 1 ส. พันสินบนโรลส์รอยซ์ปี 34 “บิ๊กป้อม” ได้ฤกษ์ถกปรองดองนัดแรกสัปดาห์นี้ เล็งใส่ชื่อนักวิชาการร่วมเป็นกรรมการ “จตุพร” แฉมีเกมล้มปรองดองโยนบาปให้ นปช. ลั่นยอมสุดซอย พร้อมเซ็นเอ็มโอยูแม้ยังไม่รู้เงื่อนไข พท.เย้ยอุปโลกน์ข่าวลอบสังหารกลบข่าวฉาวโฉ่

ยังเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ต่อเนื่อง สำหรับข้อเสนอของนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ที่ให้ใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว แก้ไขกฎหมายอาญาให้ความผิดเกี่ยวกับการคอร์รัปชันไม่มีอายุความ โดยเว้นโทษอาญาแก่ผู้ให้สินบน ที่ยอมรับสารภาพเปิดเผยข้อมูล คงเหลือไว้เพียงโทษทางแพ่ง

ป.ป.ช.ประสาน ครม.–ปปง.คุ้ยสินบน

เมื่อวันที่ 5 ก.พ. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานคณะทำงานสืบสวนและรวบรวมข้อมูลกรณีบริษัทโรลส์–รอยซ์จ่ายสินบนซื้อขายเครื่องยนต์อากาศยานและเครื่องจักรแก่เจ้าหน้าที่รัฐไทย กล่าวถึงความคืบหน้าการรวบรวมข้อมูลคดีดังกล่าวว่า อยู่ในชั้นการแสวงหาข้อมูล การทำงานเป็นไปด้วยดี ได้รับความร่วมมือที่ดีจาก ป.ป.ช.อังกฤษและกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ที่อยู่ระหว่างการส่งผ่านข้อมูลกันอยู่ นอกจากนี้ ป.ป.ช.ได้ประสานสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อขอเอกสารที่เกี่ยวข้องการประชุม ครม.ในการจัดซื้อเครื่องยนต์โรลส์รอยซ์ เนื่องจากตามขั้นตอนโครงการต้องผ่านการขอความเห็นชอบจากมติ ครม. ขณะเดียวกันได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อประสานการทำงานร่วมกันในการติดตามเส้นทางการเงินบางส่วน

...

จับมือ ศอตช.เดินหน้าเจาะข้อมูล

นายสรรเสริญกล่าวว่า ป.ป.ช.ยังประสานไปที่ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เพื่อหารือถึงกรอบการทำงานว่าจะประสานความร่วมมือการทำงานร่วมกันอย่างไร ซึ่งสอดคล้องความเห็นของนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมว.ยุติธรรม และ ศอตช.ที่บอกว่า หาก ป.ป.ช.ติดขัดปัญหาทางกระบวนการยุติธรรมขอให้บอกมา เพื่อพูดคุยกับทุกหน่วยงานทั้ง สตง. ปปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทันท่วงที ขณะนี้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระบุว่าหากหน่วยงานใดมีความคืบหน้าอย่างไรจะส่งข้อมูลให้ ป.ป.ช.ดำเนินการ

เตือนใช้ ม.44 โยง ตปท.เป็นผลเสีย

นายสรรเสริญกล่าวว่า ส่วนกรณี รมว.คลัง เสนอใช้มาตรา 44 เพื่อแก้กฎหมายปัญหาคอร์รัปชันและสินบนข้ามชาติให้รวดเร็วขึ้นนั้นยังไม่ทราบรายละเอียด แต่หากแก้ไขเพื่อทำงานให้เร็วขึ้นถูกต้องตามกฎหมายก็ไม่ขัดข้อง แต่ควรใช้เฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพและบูรณาการทำงานภายในประเทศ ไม่ควรโยงไปถึงต่างประเทศ ถ้าไปเกี่ยวโยงไปถึงต่างประเทศอาจเป็นผลลบต่อไทยด้วยซ้ำที่จะขอข้อมูลใดๆไม่ได้

ปชป.จี้ทบทวนลดโทษคนให้สินบน

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เสนอให้ใช้มาตรา 44 แก้กฎหมายเปิดโอกาสให้กับผู้ให้สินบนสารภาพและจ่ายค่าปรับแทนการลงโทษว่า รัฐบาลควรพิจารณาให้รอบคอบถึงผลกระทบต่อการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันโดยรวม ทางที่ดีควรปรึกษาองค์กรอิสระ ป.ป.ช. และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบให้รอบด้านก่อน ขอฝากไปยังผู้มีอำนาจคำนึงถึงปัจจัยดังนี้ 1.จะกระทบต่อความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ทำให้ไม่หวาดกลัวที่จะทำผิดกฎหมายหรือไม่ 2.เปิดช่องให้ผู้ตั้งใจให้สินบนใช้โอกาสทางกฎหมาย ต่อสู้ให้พ้นผิดได้ ไม่ต้องรับผิดติดคุกหรือไม่ และ 3.ควรพิจารณาเทียบเคียงกับกฎหมายที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ไม่ให้กระทบกับการบังคับใช้กฎหมายโดยรวม

พลังชลชี้เปิดช่องให้กระทำผิด

นายสุระ เตชะทัต โฆษกพรรคพลังชล กล่าวว่า ข้อเสนอของนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ในการลดโทษอาญาคนให้สินบนอาจไม่เหมาะสม เรามีกฎหมายเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว ถ้าไปลดโทษผู้ให้สินบนอาจมีการละเลยต่อกฎหมาย ทำให้เอกชนที่จะรับงานโครงการต่างๆ ไม่เกรงกลัว หาช่องทางในการกระทำผิด การจะแก้กฎหมายอะไรจำเป็นต้องมองระยะยาว อะไรที่ดีอยู่แล้วต้องรักษาไว้ ยึดตามเดิมจะดีกว่า

“เสรี” หนุนไม่เอาผิดคนให้สินบน

ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า กรณีกระทรวงการคลังเสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 ยกเว้นโทษแก่ผู้ให้สินบนว่า เป็นแนวคิดที่ถูกต้อง แก้ปัญหาการคอร์รัปชันให้สินบนได้ เพราะกฎหมายปัจจุบันที่ระบุว่า คนให้และคนรับสินบนมีความผิดทั้งคู่ ทำให้เกิดการช่วยกันปกปิดความผิด จนไม่สามารถหาหลักฐานมาลงโทษได้ แต่ถ้าหากกำหนดว่าคนให้สินบนนำหลักฐานมาเปิดเผยจะไม่มีความผิดนั้น จะเป็นช่องทางให้คนกล้านำหลักฐานมาเปิดเผย และจะทำให้ไม่มีใครกล้าเรียกรับสินบน เพราะไม่รู้ว่าจะถูกนำหลักฐานมาแฉเมื่อใด จะช่วยป้องกันไม่ให้มีการเรียกรับสินบนได้ หรืออาจจะเขียนกฎหมายว่า หากฝ่ายใดไม่ว่า ผู้ให้หรือผู้รับนำหลักฐานเรื่องสินบนมาเปิดเผยก่อนจะไม่มีความผิดหรือได้รับการลดโทษก็ได้

“วิษณุ” เด้งเชือกปมใช้ ม.44 แก้สินบน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันปัญหาทุจริตคอร์รัปชันโดยใช้มาตรา 44 ลดโทษอาญาคนให้สินบนว่า เห็นข่าวจากหนังสือพิมพ์แล้ว ไม่มีเรื่องส่งมาถึงตนคงตอบไม่ถูก และไม่ทราบจริงๆว่าเขาจะเสนออะไรมามากน้อยกว่าที่เป็นข่าว เพราะเท่าที่อ่านดูจากข่าวก็มีทั้งจุดอ่อนจุดแข็ง ตอบไม่ถูกและไม่เป็นธรรมแก่ตนที่จะไปตอบ เมื่อถามว่าจะมีผลต่อ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ไม่น่าจะเกี่ยว เพราะในที่สุด พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง ก็เป็นส่วนของกฎหมายเอง และประเด็นที่ รมว.คลังพูดถึงอาจจะไม่ได้หมายถึง พ.ร.บ.ก็ได้

แก้ รธน.ประชามติตามกรอบ 30 วัน

นายวิษณุยังกล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษเพื่อพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทานยังดำเนินการเรื่องดังกล่าวตามกรอบที่มีเวลา 30 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 18 ก.พ. คณะกรรมการอาจประชุมนัดต่อไปในวันที่ 6 ก.พ. นี้ อย่างไรก็ตามหากแก้ไขเพิ่มเติมมาตราใดที่เสร็จสิ้นก็ได้ส่งให้สำนักอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เขียนไปพลางก่อนแล้ว ส่วนบางมาตราที่ยังไม่เสร็จเรียบร้อยนั้น ขอไม่เปิดเผยรายละเอียด

กรธ.หวังยกระดับ ป.ป.ช.ปราบโกง

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการทำงานของ กรธ.ว่า ขณะนี้ กรธ.ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. โดยคาดหวังว่าการทำงานของ ป.ป.ช.จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม การพิจารณาคดีต่างๆ มีความรวดเร็วไม่ล่าช้า ต้องมีเครื่องมือ มีที่มีประสิทธิภาพในการหาหลักฐาน และไม่เน้นพิจารณาแต่เฉพาะคดีใหญ่ๆ หรือคดีของนักการเมืองเท่านั้น ขณะที่คณะกรรมการสรรหาและกรรมการ ป.ป.ช.จะต้องมีหลักประกันว่าเป็นกลาง ไม่ถูกครอบงำจากฝ่ายใด สำหรับการประชุม กรธ.วันที่ 6 ก.พกรธ.ได้เชิญตัวแทนจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองมาให้ความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง

“วีระ” แฉ พล.อ.บีบถอนฟ้องราชภักดิ์

วันเดียวกัน เวลา 13.30 น. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้มีการจัดเสวนาสาธารณะ เรื่อง “แก้ปัญหาคอร์รัปชัน ชาตินี้หรือชาติหน้า” โดยคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมกับมูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว (โครงการสร้างคนดี มองการณ์ไกล ไทยรุ่งเรือง) และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน องค์กรภาคประชาชน จัดขึ้น โดยนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนฯ กล่าวว่า ถ้ามาตรฐานการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศไทยยังเป็นเช่นนี้ คงต้องไปเกิดใหม่เพื่อรอเห็นการแก้ปัญหาได้ชาติหน้า เพราะองค์กรตรวจสอบคอร์รัปชันที่ได้ชื่อว่าเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญยังอยู่ใต้อำนาจรัฐ โครงการอุทยานราชภักดิ์ รวมถึงการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษของทุกโครงการ แต่กองทัพบกตั้งกรรมการตรวจสอบไม่พบความผิดอะไร ตนได้ยื่นร้องเรียนไปยัง ป.ป.ช.แล้ว แต่ปรากฏว่ามีพลเอกคนหนึ่งขอพบ ขอให้ถอนคดี แม้ตนไม่ถอน แต่สุดท้าย ป.ป.ช.ก็ไม่ตรวจสอบ ตามที่พลเอกคนนั้นระบุจริงๆ ส่วนเรื่องสินบนนั้น สมัยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ว่าทุเรศแล้ว 30-40% แต่รัฐบาลทหาร คสช.บางโครงการ 50%

ผู้ว่าฯ สตง.แฉ 2 ก. 1 ส.พันสินบน

ด้านนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวว่า สำหรับกรณีสินบนบริษัทโรลส์รอยซ์ นั้น สตง.ไม่ได้นิ่งนอนใจได้ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างประเทศขอหลักฐานไปยังทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ และระหว่างนี้ก็ได้ตรวจสอบข้อมูลที่ได้จากหน่วยงานต่างๆ เพื่อรวบรวมรายชื่อบุคคลมาเตรียมไว้ล่วงหน้าเพื่อรอประกอบกับข้อมูลที่จะได้จากทั้งสองประเทศนั้น ซึ่งจะได้รู้ว่าใครเป็นใครอยู่ในเส้นทางบ้าง และใครเป็นคนชง คนเชียร์ คนชิม

“ข้อมูลที่ได้ตรงกันกับข้อมูลจากต่างประเทศ มีหลายคนมาให้ข้อมูลบอกกันว่า ก. 2 ตัว ส. 1 ตัว ไปกินกันวันลอยกระทง 11 พฤศจิกายน ปี 34 อยู่ที่ภัตตาคารโรงแรมอะไรสักโรงแรมหนึ่ง ดังๆ เพราะวันนั้นมันเป็นวันลอยกระทง แต่จะยืนยันตัวบุคคลได้หรือไม่นั้น ต้องรอความร่วมมือจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา คาดหวังว่าต่างประเทศจะให้ความร่วมมือ แต่เป็นเรื่องที่เราคงกำหนดระยะเวลาไม่ได้ว่าจะได้ข้อมูลมาทั้งหมดเมื่อไหร่ และทราบว่าทาง ศอตช.จะนัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในวันที่ 9 ก.พ.นี้” นายพิศิษฐ์กล่าว

เจตจำนงผู้นำพิสูจน์ปราบโกง

นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผอ.สำนักข่าวอิศรา กล่าวว่า หลังจากการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 แม้จะเคยมีการทำผลสำรวจเกี่ยวกับเรื่องการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ที่ตัวชี้วัดมีการเปลี่ยนแปลงลดลงบ้าง แต่ภายหลังตัวเลขกลับมาอยู่ที่เดิม ตนเห็นว่าปัจจัยหลัก 4 ประการที่จะทำให้ปัญหาการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นผลขึ้นอยู่กับ 1.เจตจำนงของตัวผู้นำที่ไม่ได้อยู่แค่การแถลงหรือการพูด แต่อยู่ที่การลงมือกระทำ โดยที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่นการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งสุดท้าย ป.ป.ช. ได้ยุติการดำเนินคดีแต่กลับไม่เปิดเผยเหตุผลให้สาธารณะทราบ ทั้งๆ ที่ควรเปิดเผยหรือการตรวจสอบกรณีเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 กระบวนการสอบก็ยังไม่คืบ ค้างอยู่ใน ป.ป.ช.นานมาก 2.เรื่องของประสิทธิภาพ กระบวนการยุติธรรมในการตรวจสอบ ซึ่งในอดีตและปัจจุบันการทำงานของ ป.ป.ช.ในชั้นอนุกรรมการก็ยังคงล่าช้า รวมทั้งวิธีการตรวจสอบที่บางเรื่องก็ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหายไปในกลีบเมฆ 3.เรื่องการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งปัจจุบัน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีการนำเทคโนโลยีเกี่ยวกับระบบค้นหามาใช้ให้เห็นข้อมูลมากขึ้น แต่ยังมีข้อจำกัดตรงที่ สตง.รับผิดชอบหน่วยงานเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของ 7 หมื่นหน่วยงาน แต่หน่วยงานที่มีข้อมูลครบถ้วนคือกรมบัญชีกลางที่มีอำนาจรับและจ่ายเงิน ยังมีปัญหาตรงที่ยังไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลและ 4.การตื่นตัวของภาคประชาชนที่ต้องการมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล

“บิ๊กป้อม” ได้ฤกษ์ถกนัดแรกปรองดอง

ส่วนความคืบหน้ากระบวนการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองของรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณากลั่นกรองเรื่องเสนอคณะกรรมการ ป.ย.ป.ทั้ง 4 คณะแล้ว ล่าสุดคณะกรรมการเตรียมความพร้อมสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มีนายกฯเป็นประธาน และมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นรองประธาน ทำหน้าที่กำกับดูแล จะประชุมนัดแรกอย่างเป็นทางการในสัปดาห์นี้ เพื่อรับมอบนโยบายอย่างเป็นทางการจาก พล.อ.ประวิตรและติดตามความคืบหน้า 10 ประเด็นที่ได้กำหนดเพื่อสอบถามพรรคการเมือง และกลุ่มการเมือง ที่ได้คณะทำงานแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้องไปเตรียมการมา และตั้งอนุกรรมการที่ได้วางไว้เบื้องต้น 3-4 คณะ

หยิบรายงาน 11 เล่ม ศปป.ต่อยอด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนักวิชาการที่จะเข้ามาได้ทาบทามเรียบร้อยแล้ว และเตรียมเสนอชื่อเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาด้วย โดยจะเข้ามาอยู่ในส่วนของอนุกรรมการชุดต่างๆที่วางไว้ 3-4 ชุด รวมถึงในส่วนของอนุกรรมการชุดที่จะพูดคุยกับนักการเมือง กลุ่มการเมือง จะมีความหลากหลาย มาจากผู้เชี่ยวชาญหลายๆด้าน ทั้งด้านกฎหมาย การเมืองการปกครอง ต่างประเทศ สื่อ สิ่งแวดล้อม พลังงาน การปฏิรูป ยุทธศาสตร์ เศรษฐกิจ และเคยทำงานเรื่องปรองดองมาแล้ว โดยแนวคิด พล.อ.ประวิตรอยากให้รับฟังความเห็นที่ตรงกันและไม่ตรงกัน มาจัดระบบ จากนั้นประกาศให้ประชาชนรับทราบว่าสิ่งที่คุยมีอะไรที่เห็นตรงกันและไม่ตรงกันที่ชัดเจน นอกจากนี้ได้นำรายงาน 11 เล่ม ของศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) มาประกอบการในการทำงานด้วย

“สมคิด” ชง ป.ย.ป.แก้โกงจัดซื้อจัดจ้าง