ปัดนายกฯนั่งหัวโต๊ะ-จี้ดึงคนนอกช่วย แนะสร้างคนตั้งแต่ปฐมวัย
จากการประชุมสภาการศึกษาเสวนา OEC Forum หัวข้อ “รัฐธรรมนูญกับทิศทางการปฏิรูปการศึกษา” โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวตอนหนึ่งว่า ปัญหาในสังคมไทยเกิดจากระบบการศึกษา ดังนั้นบทบัญญัติการศึกษาตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงจำเป็นต้องเน้นการจัดการศึกษาตั้งแต่เริ่มต้น โดยมาตรา 54 รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปีตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และต้อง สร้างคนดีมีวินัย มีคุณธรรมจริยธรรมตั้งแต่ก่อนวัยเรียน
นายมีชัยกล่าวอีกว่า ตนมองว่าการพัฒนาเด็กตั้งแต่ก่อนวัยเรียนเป็นเรื่องสำคัญ ประเทศไทยยังขาดแคลนครูด้านนี้อยู่จึงอยากให้มหาวิทยาลัยผลิตครูด้านการศึกษาปฐมวัยให้มากขึ้น โดยกลุ่มองค์กรวิชาชีพ อาทิ คุรุสภา ไม่ควรไปกำหนดหลักสูตรการผลิตมากเกินไป เพราะเหมือนเป็นการปิดกั้นการคิดค้นองค์ความรู้ใหม่ๆ ดังนั้นรัฐธรรมนูญในหมวดที่เกี่ยวข้องมีการระบุว่า องค์กรวิชาชีพไม่มีสิทธิก้าวก่ายการจัดทำหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษา แต่ควรทำหน้าที่ให้คำแนะนำมากกว่า ส่วนกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบันทำงานแบบองค์กรหลักที่ต่างคนต่างคิด ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาต้องล้มเลิกความคิดแบบแบ่งแท่ง และคิดเป็นกระบวนการพัฒนาที่เริ่มต้นจากเด็ก ครู และโรงเรียน ให้เป็นการทำงานแบบเชื่อมโยง
“การมีระดับ 11 ใน ศธ.กี่คน ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่เมื่อมีแล้วต้องดูว่าเป็นอุปสรรคต่อการจัดการศึกษาหรือไม่หากพบว่าเป็นปัญหาก็ต้องทำไม่ให้กระทบต่อการจัดการศึกษา และระดับ 11 ควรเป็นผู้ปฏิบัติงานมากกว่า อีกทั้งการปฏิรูปการศึกษาต้องเป็นคนนอก เพราะคนในวงการศึกษาจะมองไม่ทะลุปัญหาเพราะคิดในกรอบ และประธานคณะทำงานด้านปฏิรูปการศึกษาก็ไม่ควรเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะคนจะเกรงใจจนไม่กล้าเสนอความคิดเห็น” นายมีชัยกล่าว.
...